ข่าวหึ่ง!พรรคร่วมบีบ"พปชร." เปลี่ยนตัว"ผู้จัดการรัฐบาล" - kachon.com

หึ่ง!พรรคร่วมบีบ"พปชร." เปลี่ยนตัว"ผู้จัดการรัฐบาล"
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.  แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าแกนนำ พปชร.บางส่วน  โดยเฉพาะในกลุ่มที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ต้องการกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอไว้กับพปชร.ไว้ทั้งหมด เชื่อว่าการเจรจากับพรรคขนาดกลาง และพรรคการเมืองต่างๆ จะยังไม่ได้ข้อยุติง่ายๆ  โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่มีเสียง 52 เสียง และพรรคภูมิใจไทยที่มีเสียง 51 เสียงพรรคชาติไทยพัฒนาที่มีเสียง 10 เสียง ที่ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะท่าที่ของนายสมคิด ที่จะยึดกระทรวงเศรษฐกิจล็อคไว้ที่คนของตัวเองเพียงกลุ่มเดียว รวมทั้งตลอดระยะเวลา5ปี ที่ดูงานด้านเศรษฐกิจ ประชาชนเดือดร้อน สินค้าเกษตรตกต่ำ ชาวบ้านยากจนเพิ่มขึ้นและหาก3พรรคดังกล่าวยินยอมก็ไม่สามารถผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของตัวเองได้  จึงมีเสียงอยากให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนตัวผู้จัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคต่างๆราบรื่นขึ้น หรือ ยอมปล่อย กระทรวงเศรษฐกิจ  หรือ รมช. กระทรวงเศรษฐกิจออกไปบ้างเพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ กระทรวงด้านความมั่นคง อาทิกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ก็อยู่ในมือพปชร.อยู่แล้ว

"ก่อนหน้านี้พรรคขนาดกลาง ยังหวั่นกระแสสังคมที่มีต่อ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้าคสช. และ นายอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่เป็นคสช. เข้ามาในครม.ชุดหน้า โดยไม่ผ่านการเลือกตั้งแตกต่างจากพล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งท่ามกลางกระแสล่าสุดที่ไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการแต่งตั้งส.ว.สรรหาจำนวน 250 คน ที่เน้นระบบพี่น้องและการเข้ามาจากคนในแม่น้ำ 5 สาย  จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่" แหล่งข่าวพปชร. ระบุ

แหล่งข่าวจากพปชร. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากการหารือกับ ส.ส.ใหม่ ของพรรคขนาดกลางหลายคน ยังเป็นกังวล  2  ประเด็นใหญ่ คือ1.การเป็นรัฐบาลของพปชร. เสียงปริ่มน้ำ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลมี ส.ส.มากกว่าฝ่ายค้านแค่ 10 เสียง  ไม่สามารถจะผ่านมติในสภาผู้แทนราษฎรไปได้อย่างราบรื่น เพราะในความเป็นจริง รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.จะต้องมาร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรและอยู่ลงมติทุกครั้งซึ่งเป็นไปไม่ได้ รวมทั้งคนที่เป็นประธานสภาและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งปกติตามมารยาททางการเมืองจะไม่ลงมติ 2.กระแสการต่อต้านจากสังคมและฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทยที่จะเกิดขึ้นทั้งในสภาฯและนอกสภาฯตลอดเวลา อาทิ การสืบทอดอำนาจจากคสช. ทั้งใน ครม. และแต่งตั้ง ส.ว. ที่เอาแต่ญาติพี่น้อง พรรคพวกเพื่อนฝูงและคนใกล้ชิดและมีปัญหาอื้อฉาว  มาทำงานต่อโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งจะลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและทุกพรรคการเมืองที่ร่วมงานข้างหน้า   

“เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็รู้ดี เพราะเป็นพรรคที่คร่ำหวอดกับการเมือง กรณีพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงปริ่มน้ำ กระแสสังคมไม่ยอมรับ การบริหารประเทศติดขัด ต้องวุ่นอยู่กับปัญหาการเมืองแบบรายวัน ในที่สุดรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจไปไม่รอด พรรคขนาดกลาง จึงกำลังใคร่ครวญอย่างหนัก และ พวกเขายอมรับว่าเครียดมากในการตัดสินใจ  ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะคุยเรื่องนี้ภายหลังเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเรียบร้อยในวันที่ 15 พ.ค. นี้  ว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ขอเวลาไปหารือกับส.ส.ในวันที่ 16 พ.ค.นี้ก่อนเช่นกัน” แหล่งข่าวจาก พปชร. ระบุ