ดัน'กัญชา'สกัดเป็นยารักษาโรค จ่อขยายส่งออกนอก
การเมือง

นายวิรัช โหตระโวศยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ในส่วนของการผลิตกัญชาสู่ยารักษาโรคถือว่าเป็นความสำคัญของการร่วมมือในครั้งนี้ โดยทางมหาวิทยาลัยจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาสายพันธุ์และหาปัจจัยในการปลูกที่เหมาะสมที่สุดเพื่อให้ได้สารสำคัญทางยา เช่นกระบวนการควบคุมความชื้น กระบวนการควบคุมอุณหภูมิและแสงแดด คาดว่าการลงทุนทำสมาร์ทฟาร์มเพื่อการปลูกกัญชา ก่อนที่จะส่งมอบไปยังบริษัท เพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการลงนามครั้งนี้จะเกิดผลสัมฤทธิ์ เนื่องจากทางบริษัทเองก็มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตยาเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งมีบุคลากรแพทย์แผนไทย เภสัชกรแผนไทย เภสัชแผนปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งมีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชา ท้ายสุดหวังว่างานวิจัยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป.
นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเอกชน กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือเรื่องการปลูกกัญชาครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน เพื่อจะได้ดำเนินการต่อในส่วนของการแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ คาดว่าจะใช้เวลาในการได้รับอนุญาตในช่วงปลายปี 62 ซึ่งในส่วนของบริษัทก็ได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านเอกสาร รวมถึงพื้นที่ของโรงงานเป็นแปลงทดลองปลูกกัญชา ซึ่งเป็นพื้นที่ไว้สำหรับการพัฒนาสมุนไพร และกัญชา เพื่อทำยาแผนโบราณ 60 ไร่ โดยอาศัยองค์ความรู้จาก ต้นแบบของคณะเกษตรและวิทยาลัยแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีมาต่อยอด
“ความร่วมมือในครั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนการผลิตเป็นยาสมุนไพร ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เกิดการร่วมมือระหว่างภาควิชาการและภาคเอกชนที่นำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาผนึกกำลังเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการแพทย์ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป เพราะหากในอนาคตมีการผลิตและวิจัยสกัดออกมาจนไม่มีผลข้างเคียง จะทำให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลงเนื่องจากเป็นยาที่ผลิตใช้เองโดยคนไทย อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้ประเทศไทยขยายตลาดการส่งออกเพื่อหารายได้เข้าประเทศ” นายสิทธิชัย กล่าว.