ข่าววงเสวนาชี้ส่อเค้าเลือกตั้งใหม่ พปชร.-พรรคร่วมเจ็บหนัก! - kachon.com

วงเสวนาชี้ส่อเค้าเลือกตั้งใหม่ พปชร.-พรรคร่วมเจ็บหนัก!
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนา “ทางออกของประเทศไทยกับรัฐบาลใหม่ที่พึงประสงค์ของประชาชน” จัดโดยมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ว่า ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ดีใจกับ 11 เสียงของพรรคเล็ก เพราะหากไม่มีวิธีตีความสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อแบบใหม่ก็ไม่มี 11 เสียงนี้ จะทำให้พปชร.มีเพียง 124 เสียง แปลว่าอีกฝั่งที่เหลือก็จะมี 376 เสียง สามารถตั้งรัฐบาลได้โดย ไม่ต้องมีเสียงของ สว. เพราะฉะนั้นการมีตัวเลข 11 เสียงนี้จึงสำคัญ แต่การที่พปชร.ไปร่วมแถลงข่าวนั้นทำให้ภาพกลายเป็นลบเพราะทำให้คนเชื่อว่าตั้งใจทำ

อย่างไรก็ตาม ตัวแปรจริงๆ ตอนนี้อยู่ที่พรรคภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ที่รวมกันได้ 103 เสียง ที่พปชร.ต้องการ เมื่อดูรายชื่อส.ว.ที่ประกาศแล้ว ก็เห็นว่ามาตามนัด การที่ภูมิใจไทยบอกจะประกาศท่าที 20 พ.ค.ซึ่งถือว่าสำคัญ วันนี้ ทางเลือกของพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา มี 3 ทางคือ ต้องเอาภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ มาให้ได้ นี่เป็นครั้งแรกในประวัตศาสตร์ที่มีรัฐบาลผสมมากถึง 20 พรรค แต่ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาวิจัย ขอบอกว่าเลือกตั้งคราวนี้มีพรรคการเมืองแค่ 16 พรรคเท่านั้น เพราะตนไม่เห็นด้วยกับการตีความของกกต. ที่เอามาแบ่งให้พรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,000 คะแนน  และตอนนี้ก็ยังนึกไม่ออกว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะบริหารผลประโยชน์ 20 พรรคนี้ได้อย่างไร

รศ.ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า ตนมองว่าวันนี้ประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี ส่วนปรากฎการณ์พรรคอนาคตใหม่คือคู่ขัดแย้งใหม่ เป็นคู่ที่ 3 ซึ่งเป็นผลจากการที่คสช.อยู่นานเกินไป นับเป็นปรากฎการณ์ระดับโลก ในต่างประเทศเคยมีพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันได้รับความนิยมประมาณ 5.6% แต่วันนี้ พรรคอนาคตใหม่ได้ที่นั่งไปถึง 16% เป็นปรากฏการณ์ใหม่ นี่จึงนับเป็นความขัดแย้งใหม่ที่คสช.สร้างขึ้น อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างต้องว่าไปตามกติกา มองในแง่บวก 2 มิติ คือการเมืองไทยยังมีทางออก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่ คสช. และม. 44 หมดไป ส่วนมิติที่ 2 ทำให้มีการตรวจสอบผลงานในรอบ 5 ปี

“ปัญหาของเขาคือจะเอาภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์มาร่วมได้อย่างไร มีการวิเคราะห์ว่าอาจจะไม่ร่วมรัฐบาล แต่ยกมือให้เป็นครั้งคราว เพราะถ้ามองยาวๆ สำหรับ 2 พรรค การร่วมรัฐบาลกับพล.อ.ประยุทธ์ น่าจะไม่ดี ไม่ยาวไปข้างหน้า อีกทางเลือกจะทำให้ยุ่งจากที่บ้านเมืองยังเดินได้ก็จะเดินไม่ได้ ซึ่งตนขอเตือนไว้ก่อนเพราะอาจจะมีคนไปแนะนำรัฐบาล คือเหมือนบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2521 เขียนว่าในกิจการต่อไปนี้ให้ทำในที่ประชุมรัฐสภา 1. การพิจารณาร่างพ.ร.บ. 2.ลงมติไม่ไว้วางใจ หรือพูดง่ายๆ คือแก้รัฐธรรมนูญให้การลงมติไม่ไว้วางใจทำในที่ประชุมรัฐสภา หากที่ไม่ประชุมไม่ไว้วางใจก็เป็นเสียงข้างมากทันที ดังนั้นเตือนว่าอย่าทำ การแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ดีเสมอไป อาจจะออกมาในรูปแบบที่เรากลัว นี่เป็นคำเตือน”

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า วันนี้เรามองเห็นหน้าตารัฐบาลแล้ว แต่ยังมองไม่เห็นทางออกของบ้านเมือง และไม่ใช่เรื่องง่าย หากบอกทางออกและรัฐบาลที่พึงประสงค์ ต้องแก้ปัญหาให้บ้านเมืองได้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความขัดแย้ง สร้างสังคมปรองดอง พัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้จบแค่บวกลบ คูณหาร เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาล มีนายกฯ ได้เท่านั้น หัวใจหลักต้องมีความชอบธรรมทางการเมืองในทุกระดับ ถึงจะเดินต่อไปได้ แต่วันนี้ยังไม่ทันได้ตั้งรัฐบาลคนก็บอกว่าอยู่ได้ไม่นาน อยู่ได้ 2 ปี บ้าง บางคนบอก 6 เดือนก็เก่ง ดังนั้นต้องมีความชอบธรรม  คือส.ส. และ ส.ว. จะทำอย่างไรให้ยึดโยงความต้องการของประชาชน การบริหารบ้านเมืองต้องมีการเปิดเผย มีส่วนร่วมของประชาชน ตรวจสอบได้ และคิดว่าถ้าตกลงกันได้ก็ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ   

รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวต่อว่า วันนี้โอกาสเห็นรัฐบาลผสมเป็นไปได้สูงถึง 20 พรรค และจะมีการต่อรองกันมาทั้งภายในและภายนอก เก้าอี้ในกระทรวงเกรดเอ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอย่าง อย่างมหาดไทย กลาโหม ก็ยังเป็นคนที่ใกล้ชิดรัฐบาล ตลอดจนกระทรวงการคลังที่ดูเรื่องเศรษฐกิจพรรคใหญ่ก็ไม่ยอมปล่อย  ส่วนกระทรวงเกรดรองอย่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ก็เป็นพรรคขนาดกลาง ซึ่งการต่อรองเก้าอี้แบบนี้เป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะการเมืองไทยแบบพรรคพวกเอื้อให้เป็นแบบนี้  ส่วนตัวคิดว่าการเมืองไทยวันนี้สามารถออกมาได้ 5 แบบ คือ 1.จัดตั้งรัฐบาลได้ 20 พรรคต้องแบกกันไปตลอดอายุ เวถียรภาพจะเป็นปัญหา จะทำอย่างไรก็ให้ลดการต่อรอง เพราะทำให้สังคมไม่ได้อะไร ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย 2. เลือกนายกฯได้ แต่เสียงข้างน้อย 3. รวมเสียงข้างมากเกิน 250 แต่สว.ไม่เอาด้วย 4.รัฐบาลแห่งชาติ และ 5. เลือกตั้งโมฆะ

นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ นักวิชาการด้านสื่อ กล่าวว่า การให้อำนาจ ส.ว.ในการยกมือเลือกนายกฯ ได้นั้นตนเห็นว่าเป็นปัญหา จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยให้ตั้งเป็นวาระแห่งชาติเลย จะใช้แบบนี้ไปตลอดไม่ได้ เพราะเป็นฉบับที่ตนเห็นว่ามีปัญหามากที่สุดทั้งแต่มีรัฐธรรมนูญมา เรียนว่าวันนี้โลกยุคใหม่ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องได้ในสิ่งที่หวัง สุดท้ายจะมีฝ่ายค้านอิสระ ดังนั้นก็ต้องฝากพรรคการเมืองให้มีความกล้าหาญทางการเมือง กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องถึงจะอยู่ได้ระยะยาว ตนดูแล้วยังไงก็มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ผ่านพ.ร.บ.งบประมาณเดือน ส.ค. และเจอการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็กระโผลกกระเผลกแล้ว แต่ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน.