ข่าวสธ.หนุนท้องถิ่นใช้สระเด็กให้คนแก่ออกกำลังกาย - kachon.com

สธ.หนุนท้องถิ่นใช้สระเด็กให้คนแก่ออกกำลังกาย
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าว กิจกรรมรณรงค์ป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ “ก้าวสู่สูงวัย ออกกำลังกายในน้ำกันล้ม” ว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมักมีปัญหาความเจ็บป่วยตามมา โดยเฉพาะการมองเห็น การเคลื่อนไหวร่างกายเริ่มมีปัญหาทำให้มีการพลัดตกหกล้ม บ่อยๆ โดยจากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุมีการพลัดตก หกล้ม เฉลี่ยถึงวันละ 140 ครั้ง เสียชีวิตวันละ 2 คน นอกจากนี้การหกล้มยังทำให้บาดเจ็บรุนแรง เช่น สะโพกหักปีละกว่า 3 พันคน หลายคนจากที่เคยทำกิจกรรมต่างๆ ได้ก็ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ทั้งนี้สถานที่เกิดเหตุร้อยละ 66 ลื่น สะดุด ก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกัน ร้อยละ 5.6 ตกบันได


ดังนั้นทางที่ดีคือการป้องกันตัวเอง ผู้สูงอายุ และญาติควรมีการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการทรงตัว ซึ่งสามารถทำแบบประเมินได้ที่เว็บไซต์ www.thaincd.com นอกจากนี้ เรื่องการออกกำลังกายที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุแต่ละราย อย่างการเคลื่อนไหวในน้ำก็เป็นหนึ่งทางเลือก ซึ่งปัจจุบันกรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับกรมอนามัย โดยอาศัย พ.ร.บ.การสาธารณสุข ในการทำงานร่วมกับท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งปกติจะมีการสร้างสระน้ำเพื่อส่งเสริมทักษะการว่ายน้ำเอาตัวรอด ป้องกันการจมน้ำเสียชีวิตในเด็ก ก็ให้มีการนำส่วนนี้มาใช้เพื่อการส่งเสริมการออกกำลังกายทางน้ำสำหรับผู้สูงอายุเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ป้องกันการหกล้มด้วย ดีกว่าปล่อยให้ผู้สูงอายุล้ม ติดเตียงแล้วต้องจ้างคนมาดูแล


ด้าน รศ.ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ รองคณบดีสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้อจำกัดในการออกกำลังกายของผู้สูงอายุคือปัญหาปวดตามข้อ กระดูก และกลัวการหกล้ม โดยเฉพาะผู้ที่เคยหกล้มมากกว่า 2 ครั้ง จะไม่กล้าออกกำลังกายเพราะกลัวว่าจะหกล้มอีก ดังนั้นการขยับร่างกายในน้ำ แค่เดิน ขยับขาซ้าย ขวา ก็จะเข้ามาช่วยเสริม โดยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา เพิ่มความยืดหยุ่น และเพิ่มความท้าทายในการทรงตัวสำหรับผู้สูงอายุ ลดแรงกระแรกของข้อกระดูกต่างๆ นอกจากนี้ อุณหภูมิของน้ำในสระก็จะช่วยให้เกิดความผ่อนคลายได้ แรงดันของน้ำช่วยให้ระบบการหายใจ และระบบการทำงานของหัวใจแข็งแรง ทั้งนี้การขยับร่างกายในน้ำต้องทำสม่ำเสมอวันละประมาณ 30 นาที สัปดาห์ละประมาณ 3 วัน อาจจะทำวัน เว้นวันก็ได้ เพื่อให้ร่างกายได้พัก และฟื้นฟู เมื่อทำต่อเนื่องประมาณ 8 สัปดาห์ก็จะเป็นผลว่าช่วยในเรื่องของกล้ามเนื้อและการทรงตัว อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังในการออกกำลังกายในน้ำคือกรณีผู้ที่มีแผลเปิด ผู้ป่วยโรคติดเชื้อ มีปัญหาเรื่องการควบคุมการขับถ่ายได้ไม่ดี ความดินโลหิตสูง.