'อุตตม'รอต่อสายหาปชป.หลังได้หัวหน้าคนใหม่
การเมือง
เมื่อถามว่า การเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ จะเป็นข่าวดีต่อพรรค พปชร.หรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า ก็ต้องรอดูว่าเป็นอย่างไร เพราะต้องรอให้ได้หัวหน้าพรรคก่อน หลังจากนั้นทางพรรคประชาธิปัตย์ ก็คงดำเนินการภายใน เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ได้ประกาศมา ทั้งท่าทีทางการเมือง การร่วมจัดตั้งรัฐบาล
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าพรรค พปชร.ต่อสายถึง ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อต่อรองตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีด้วย นายอุตตม กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มี เราไม่ได้ติดต่อไปทางพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างไร เรื่องนี้ต้องให้เกียรติและให้เวลา เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีกระบวนการภายในอยู่ จนเมื่อกระบวนการแล้วเสร็จ ก็คิดว่าไม่สายเกินไป ที่จะพูดคุยกัน ซึ่งเราก็รอดูท่าทีของเขาเหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวถาม ถึงกรณีที่ส.ส.ภาคใต้รวมตัวเรียกร้องให้พรรคพิจารณาจัดสรรโควต้ารัฐมนตรี ให้กับกลุ่มส.ส.ภาคใต้ ซึ่งได้จำนวนส.ส.ถึง 13 เขต เช่นเดียวกับภาคอื่นๆ นายอุตตม กล่าวว่า ไม่มีการยื่นหนังสือ เรื่องนี้พรรคจะนำเข้าที่ประชุมเพื่อหารือและจะมีตัวแทนรัฐมนตรีที่มาจากทุกภาค อย่างเท่าเทียมกัน
เมื่อถามถึงการแต่งตั้ง 250 ส.ว.ที่มีทหารกว่าร้อยคน หากโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคหรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า เชื่อว่าไม่มี เพราะ ส.ว.เป็นเรื่องที่ได้มีการหารือและตั้งประเด็นแสดงความเห็นกันมาแล้วตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง โดยทาง พปชร.พูดเสมอว่าการคัดสรร ส.ว.นั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องให้เกียรติทุกคนที่เป็น ส.ว.ทั้งนี้ เราไม่ได้คิดในแง่ที่จะมีผลกระทบด้านภาพลักษณ์ต่อพรรค เพราะพรรค พปชร.มีหน้าที่ในการดูแลภาพลักษณ์ตัวเอง
เมื่อถามว่า มีเสียงวิจารณ์ว่าการแต่งตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ เป็นการตั้งคนกันเองเข้ามา หากโหวตนายกฯให้พรรค พปชร. จะทำให้ไม่มีความสง่างามหรือไม่ หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า คิดว่าไม่มี ไปดูกันได้ว่า ส.ว.แต่ละคนมีคุณสมบัติอย่างไร ส่วนแต่ละคนจะดำเนินการอย่างไรในหน้าที่ของตัวเอง ก็ให้ทำไป เพราะทุกอย่างอยู่ในสายตาของประชาชนอยู่แล้ว
เมื่อถามย้ำว่า การแต่งตั้ง ส.ว.เช่น เพื่อนและน้อง ของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า “ผมไม่ทราบว่าใครเพื่อนใคร เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่พวกเราเป็นเพื่อนกันเยอะแยะ ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าใครเป็นเพื่อนใคร แล้วจะเข้ามาทำหน้าที่ไม่ได้ เพราะถ้าเห็นแก่ประเทศชาติ ก็ต้องเอาเรื่องคุณสมบัติเป็นหลัก ซึ่ง ส.ว.ทุกคนต่างมีวุฒิภาวะ เชื่อว่าจะเอาประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าใครเป็นเพื่อนใครเป็นหลัก”
นอกจากนี้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เป็นวิทยากรติวเข้มส.ส.พปชร.พร้อมบรรยายในหัวข้อ”บทบาทและหน้าที่ของส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน”ให้กับ ส.ส.ใหม่พรรคพลังประชารัฐ โดยกล่าวช่วงหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้แทนใหม่ ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยชุดแรกของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่จริงตนอยากให้เชิญปรมาจารย์ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมาจะดีกว่า แต่ที่รับมาบรรยายเพราะคุ้นเคยรู้จักกันกับผู้บริหารพรรคมาเป็น10ปี สำหรับหัวข้อวันนี้คือบทบาทหน้าที่ของส.ส.ซึ่งความจริงทุกคนก็รู้หน้าที่และบทบาทของตัวเองดีอยู่แล้ว โดยหน้าที่อันดับ 1.ที่ประชาชนเลือกส.ส.เข้ามา เพราะต้องการให้เป็นผู้แทนราษฎรทั้งประเทศ นำความทุกข์ของประชาชนมาแก้ปัญหา เคยมีนักวิชาการผู้กล่าวว่ากตัวอย่างประเทศจีนว่าความอดอยากจะเกิดในระบอบเผด็จการและทำให้คนตาย ส่วนประชาธิปไตยแม้จะอดอยากแต่ไม่มีอดตาย เพราะจะมีผู้แทนเป็นคนที่เสนอปัญหาเพื่อให้รัฐบาลไปแก้ไข ดังนั้นเมื่อส.ส.อาสาเข้ามาแล้ว ต้องแก้ทุกข์ร้อนเป็นหน้าที่แรก
นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า หน้าที่อันดับ2.คือ การออกกฎหมายในรัฐธรรมนูญใหม่ และ3.คือ การอนุมัติงบประมาณให้รัฐบาลพัฒนาประเทศ ที่สำคัญขอให้ส.ส.เปิดรัฐธรรมนูญ มาตรา144 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ ต้องศึกษาให้ดี เพราะมาตราดังกล่าวเอาถึงตาย ทำอะไรที่ผิด เพราะนอกจากครม.พ้นตำแหน่งทั้งคณะและยังถูกเพิกถอนสิทธิตลอดชีวิต และยังต้องใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งโทษรุนแรงมาก และส.ส.ต้องปฎิบัติตามประมวลจริยธรรมส.ส.อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการรับและการให้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้พิสดาร มองนักการเมืองทุกคนเป็นคนโกง ฉะนั้นทุกคนต้องระวังให้ดี.