ข่าว'พรเพชร'ไม่เหนียม! ประกาศพร้อมนั่งประธานวุฒิสภา - kachon.com

'พรเพชร'ไม่เหนียม! ประกาศพร้อมนั่งประธานวุฒิสภา
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 15 พ.ค.  ที่อาคารสุขประพฤติ ถ.ประชาชื่น นายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เดินทางมารายงานตัวเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พร้อมให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความพร้อมหากได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ว่า ทุกคนในนี้ก็พร้อม และมีความเหมาะสมที่จะเป็น ส่วนตนหากได้รับความไว้วางใจก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ สำหรับบทบาทหน้าที่ระหว่าง สนช. กับ ส.ว. มีความแตกต่างกัน ตอนเป็นสนช.มีหน้าที่เป็นสภาเดียว จึงพิจารณากฎหมายได้มาก แต่วุฒิสภามีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายให้รอบคอบ โดยเฉพาะครั้งนี้มีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ ส.ว.ยังมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระ ประการสุดท้ายที่ฮือฮาคือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาลที่ได้รับความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า ส.ว.รอบนี้จะทำหน้าที่ไม่แตกต่างจากสนช.ที่ทำงานไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า เอกภาพในที่นี้หมายถึงการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ประชาชน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีความเห็นต่างกันไม่ได้ ส่วนประเด็นที่มีการมองว่า ก่อนที่จะโหวตเลือกนายกฯ ส.ว.จะต้องหารือกันเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ยังไม่มีใครเสนอว่าจะต้องมีการหารือ และไม่มีอยู่ในวาระที่จะต้องหารือ สมาชิกแต่ละคนก็ยังไม่ได้เห็นหน้ากัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากให้สัมภาษณ์จบนายพรเพชร ได้หยิบโพยกระดาษขึ้นมา โดยบอกว่ามีเรื่องหนึ่งที่อยากชี้แจง คือเรื่องของพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา หนึ่งใน ส.ว. ชุดนี้ และน้องชายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เรื่องการทำหน้าที่สมัยดำรงตำแหน่งสนช. ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดประชุมบ่อยครั้ง แต่ได้เป็นส.ว. ว่า ขอชี้แจงในฐานะอดีตประธานสนช.ซึ่งกระทบกับตนในฐานะเคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของพล.อ.ปรีชา ซึ่งจำนวนการประชุมของสนช.ตั้งแต่ปี 2557 – 2562 จำนวนทั้งสิ้น 387 ครั้ง ซึ่งพล.อ.ปรีชา มาประชุมทั้งสิ้น 341 ครั้งลาประชุม 46 ครั้ง ซึ่งการลาประชุมของพล.อ.ปรีชา จะค่อนข้างมากในช่วงปี 2557 – 2559 แต่หลังจากนั้นมีพัฒนาการที่ดีขึ้น คือลาประชุมน้อยมาก ส่วนการลงมติก้เช่นกัน ซึ่งสนช.มีการลงมติ 7,085 ครั้ง คงไม่มีใครลงมติครบทุกครั้ง ในส่วนของพล.อ.ปรีชา ลงมติ 5,091 ครั้ง ขาดไป 2,000 กว่าครั้ง ซึ่งเป็นช่วง 3 ปีแรกที่ยังมีตำแหน่งในกองทัพ หลังจากพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ปรีชา ก็มาลงมติเกือบเต็มจำนวน

เมื่อถามว่า การลงมติแบบนี้แสดงถึงความไม่พร้อมในการทำหน้าที่หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ขอย้ำว่าการขาดลงมติเกิดขึ้นในช่วงแรกที่พล.อ.ปรีชา ดำรงตำแหน่งในกองทัพอยู่ หลังจากนั้นท่านลงมติไม่ขาดเลย หลังจากนั้นพล.อ.ปรีชา มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น เช่นเดียวกับคนอื่นๆที่ไม่ได้หยิบยกในที่นี้ ซึ่งก็ไม่ได้ลาเป็น 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ และ 3 ปีหลังพล.อ.ปรีชา ก็มาประชุมตลอด และเข้าร่วมกิจกรรมทั้งในต่างจังหวัด และต่างประเทศ ก็ขอชี้แจงให้ทราบเพื่อความเป็นธรรม

เมื่อถามว่า มีกระแสวิจารณ์พล.อ.ปรีชา กรณีที่เป็นน้องชายพล.อ.ประยุทธ์ นายพรเพชร กล่าวเพียงว่า “ผมไม่เกี่ยว ไม่ขอชี้แจง” เมื่อถามย้ำว่า พล.อ.ปรีชา ไม่ได้ขอให้มาชี้แจงแทนใช่หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่มี แต่ตนเป็นอดีตประธานสนช. และผู้ควบคุมข้อมูล ไม่ว่าเป็นคนใดก็ตาม ที่ได้รับผลกระทบแบบนี้ตนก็จะมาชี้แจง ถามย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้มาชี้แจงหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่มี ใครจะมาบอกให้ชี้แจง

เมื่อถามถึง กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในส่วนของที่มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว.บางส่วนได้เข้ามานั่งใน ส.ว.ชุดนี้ นายพรเพชร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของกระบวนการ ที่ผ่านมาส่วนตัวตนเคยเป็นคณะกรรมการสรรหาในชุดต่างๆมาแล้วหลายชุด ซึ่งตามปกติแล้วการสรรหาบุคคลใดบุคคลหนึ่งหาเกี่ยวข้องกับตัวเรา บุคคลนั้นก็ต้องออกจากที่ประชุมในการสรรหา ซึ่งถือว่าเป็นวิธีปฎิบัติอยู่แล้ว อีกทั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีการระบุว่า คณะกรรมการสรรหาจะมาเป็นส.ว.ไม่ได้

เมื่อถามถึงความเหมาะสมในกรณีที่มีญาติพี่น้องของรัฐมนตรี ในรัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาเป็นส.ว.ด้วยนั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ตามกฎหมายห้ามไว้เฉพาะบุตรและบุพการีที่ถือว่าเป็นสายตรง ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ไป อย่าให้ตนต้องพูดเลยตนไม่ขอตอบ.