ข่าววงเสวนาแนะคืนพระราชอำนาจตั้งส.ว. - kachon.com

วงเสวนาแนะคืนพระราชอำนาจตั้งส.ว.
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวตอนหนึ่ง ในโครงการสัมมนาวิชาการ "สภา สว.= สภา...?" ว่า การปฏิรูปการเมืองไทยตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันจะเห็นว่าชนชั้นข้าราชการยังคงเป็นผู้ถืออำนาจ โดยเฉพาะข้าราชการทหาร และจนถึงตอนนี้ตนมองว่าที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แม้กระทั่งการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ระบุว่าต้องมีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งแต่ 5 ปีที่ผ่านมา ถือว่าล้มเหลวและ เป็นการย้อนกลับไปยุคคณาธิปไตย ปรากฏการณ์ล่าสุดคือการตั้ง ส.ว.ที่สะท้อนความคิดเดิมๆ คือการนำข้าราชการทหาร อดีตข้าราชการประจำมาเข้ามา ถ้าจะให้คำนิยามผมมองว่านี่คือสภาวงศาคณาญาติ เพราะผู้มีอำนาจรัฐเลือกใช้ดุลยพินิจช็อปปิ้งเอาญาติ คนใกล้ชิดเข้ามา ทำให้ไม่มีความหลากหลาย

ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าวต่อว่า เมื่อภาพออกมาเช่นนี้แล้วสิ่งที่ต้องวิเคราะห์ต่อคือ เรื่องอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน การให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายต่างๆ และสิ่งที่น่าจับตาคือการแต่งตั้งองค์กรอิสระต่างๆ ต้องผ่านความเห็นชอบของ ส.ว.ด้วย รวมถึงการให้อำนาจใจการโหวดร่วมกับ ส.ส.เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ทั้งนี้ถ้าถามว่ายังจำเป็นต้องมี ส.ว.อยู่หรือไม่นั้นตนมองว่าคงยังต้องมี เพราะสภาผู้แทนราษฎรเองก็ยังไม่ใช่สภาที่มีคุณภาพ แต่ส.ว.ต้องไม่ใช่ลักษณะแบบนี้ ต้องมีความหลากหลาย และทำงานอย่างอิสระ เพราะถ้าทำงานเป็นเนื้อเดียว เสริมกันกับสภาล่างจะทำให้เสียการตรวจสอบ ถ่วงดุลยอำนาจไป ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรเสียสละ ไม่รับตำแหน่งนายกฯ เพราะเป็นคนแต่งตั้งส.ว.มาแล้ว ดังนั้นควรปล่อยให้พรรคการเมืองเขาตั้งรัฐบาล และเลือกนายกฯ กันไป เพื่อให้เกิดความสมดุล แต่ถ้าประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ หน้าที่ส.ว.จะกลายเป็นการทำงานเสริมกัน ทั้งนี้ มองว่าทำไมถึงไม่ถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ซึ่งสังคมไทยจะเชื่อถือมากกว่า

รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ระบบราชการฝังลึกในไทยมาร่วม 100 ปี และสะท้อนว่าทำไมเราถึงได้หน้าตาส.ว.ล่าสุดออกมาแบบนี้ ซึ่งมีคนให้คำนิยามไว้หลากหลายอาทิ สภาฝักถั่ว สภาร้อยนายพล สภาพี่น้อง เป็นต้น ส่วนตัวคิดว่าอีกไม่นานจะมีการแต่งตั้งอะไรอีกมากวันนั้นน่าจะมีคำนิยามส.ว.ชุดนี้มากขึ้น แต่ถ้าในเรื่องการทำหน้าที่นั้นตนมองว่าเรื่องการกลั่นกรองกฎหมายนั้นไม่น่าเป็นห่วง แต่บทบาทเรื่องการกำกับดูแลการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้น มีความเหมาะสมหรือไม่ นี้มีสมรรถนะพอเหมาะหรือไม่ เพราะกว่าร้อยละ 80 ของ ส.ว. เป็นคนของรัฐ ส่วนใหญ่ถนัดงานรบ จับโจร บังคับใช้กฎหมาย ควบคุม สั่งการ อาจมีมุมมองไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ดังนั้นการตั้งส.ว.ชุดนี้สะท้อนวิธีคิดอำนาจรวมศูนย์ สั่งการจากคนไม่กี่คน รัฐมีมุมมองอยากทำอะไรก็ทำ ใช้อำนาจเกือบเบ็ดเสร็จ

“สิ่งที่เราเห็น สภาชุดนี้ จึงเป็นสภาตั่วเฮีย ของกลุ่มการเมือง ไม่ใช่ของสังคมไทยทั้งมวล และอาจกลายเป็น Failed Senate (สภาล้มเหลว) ได้” รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว และว่า เราคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่การที่ออกมาพูดเพื่อสะท้อนความเห็นและให้รู้ว่าเราจับตาอยู่ เวลาทำหน้าที่ จะโหวตอะไรก็ให้คิดด้วยว่ามีคนจับตาอยู่ และถ้าถาม" รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว 

ขณะที่ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การให้ส.ว.เข้ามาดูเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคืออะไร เพราะมีแต่เรื่องที่ทำไม่ได้ โดยเฉพาะพวกอื่นทำไม่ได้ พวกเราทำได้ เป็น 2 มาตรฐานเกินไป เรื่องแบบเดียวกันคนหนึ่งเอาถึงตาย อีกคนหนึ่งทำเป็นมองไม่เห็น และส่วนตัวมองว่าประเทศไทยเป็นรัฐเดียว ไม่ใช่รัฐรวม เพราะฉะนั้นจะมีส.ว.ไปทำไม ไม่ต้องมี.