ข่าว'กฤษฏา'ยันไร้หัวคิวโควตานมร.ร. ปิดฉากมาเฟียฮุบงบ1.4หมื่นล้าน - kachon.com

'กฤษฏา'ยันไร้หัวคิวโควตานมร.ร. ปิดฉากมาเฟียฮุบงบ1.4หมื่นล้าน
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่17 พ.ค.นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ามาตรการจัดสรรโควตานมโรงเรียนใหม่ โดยแบ่งพื้นที่5ภูมิภาค ที่มีเกษตรกรเลี้ยงโคนมจำนวนมาก มีผู้ประกอบการ 65 ราย ได้ทันเทอมนี้ ตามข้อสั่งการของตนให้เด็กนักเรียนทุกคนกว่า7.4ล้านคน งบประมาณ1.4หมื่นล้านบาทอต่อปี ได้ดื่มนมที่ดีมีคุณภาพ ไม่ให้เกิดความล่าช้า เหมือนที่ผ่านมาในพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้การปรับระบบนมโรงเรียนทั้งหมด มั่นใจว่าไม่มีปัญหาจ่ายค่าหัวคิว นำโควตานมไปซื้อขายกัน หรือยืมปริมาณน้ำนมดิบข้ามเขตผูกขาดพื้นที่จำหน่ายส่งนมโรงเรียน

นายกฤษฏา กล่าวว่าได้สั่งด่วนถึงปลัดกระทรวงฯ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้ตรวจราชการ ผอ.อสค.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้บูรณาการแก้ไขปัญหานมสำหรับนักเรียนและเยาวชน ตามที่ได้สั่งการให้มีการปรับระบบนมสำหรับนักเรียนและเยาวชนในโรงเรียนใหม่ ตั้งแต่ปีการศึกษา1/2562 เป็นต้นไป โดยต้องประสานงานทุกระดับอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ

ทั้งนี้มอบหมายให้ปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบงานเกี่ยวกับนมโรงเรียนโดยในช่วงนี้ให้ไปประสานขอความร่วมมือให้เกษตรจังหวัดทุกจังหวัดช่วยสั่งการให้เกษตรอำเภอทุกอำเภอลงไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่ทุกแห่งเพื่อเยี่ยมเยี่ยมและสอบถามครู อาจารย์และนักเรียนว่าได้รับนมตามสัญญาถูกต้องหรือไม่โดยให้ตรวจสอบว่านมมีคุณภาพไม่บูดเน่าและส่งตรงเวลารวมทั้งครบตามจำนวนนักเรียนและอัตราการดื่มที่กำหนดไว้หรือไม่อย่างไรด้วย โดยเกษตรจังหวัด ต้องรวบรวมผลการตรวจเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่ทุกแห่ง เช่นปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะของผู้บริหารโรงเรียนจากเกษตรอำเภอเพื่อส่งให้ปศุสัตว์จังหวัดนำเรียนส่วนกลางด้วย พร้อมกับไปพบและรายงานต่อผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เกี่ยวกับการสถานภาพโครงการนมโรงเรียนให้ผวจ.ทราบทุกระยะด้วย หากมีปัญหาที่ต้องขอความกรุณา ผวจ.สั่งการหรือประสานงานในอำนาจหน้าที่ของจังหวัด จะได้ดำเนินการได้ทันทีไม่ชักช้าเกิดความเสียหายต่อทางราชการ

นายกฤษฏา กล่าวว่า สำหรับแนวทางปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนที่ครม. เห็นชอบ สามารถอุดรอยรั่วของการทุจริตและเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน โดยคณะกรรมการบริหารที่ตั้งขึ้นใหม่ ไม่มีตัวแทน ผู้ประกอบการ รวมทั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ที่เป็นหนึ่งในผู้​ประกอบการ ซึ่งถือว่า มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ด้วย แล้วมอบหมายให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการระดับกลุ่มพื้นที่ 5 กลุ่มซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่าย ทั้งนี้การทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่ม 1 – 4 ดำเนินการแล้ว ผู้ประกอบการส่งนมถึงโรงเรียนตั้งแต่เปิดภาคเรียน​อย่างไรก็ตาม​พื้นที่กลุ่ม 5 ซึ่งดูแลเขต 7 ประกอบด้วยภาค กลางฝั่งตะวันตกและภาคใต้ รวม 22 จังหวัด ซึ่งมีปัญหาร้องเรียนกัน ล่าสุดคณะอนุกรรมการฯ ได้ข้อยุติแล้ว โดยผู้ประกอบการเซ็นสัญญาซื้อขายกับอบต. เทศบาล เสร็จสิ้น ภายในวันที่22พ.ค.นี้.