มติภท.มอบ"เสี่ยหนู"ลุยถกพรรคที่ยังไม่ชัดเจนหาแนวทางร่วมรบ
การเมือง

“วันนี้สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล คือพรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้รับการประสานงานอย่างเป็นทางการจากพรรคการเมืองใดๆในการจัดตั้งรัฐบาล สมาชิกพรรคจึงมีมติมอบอำนาจให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้ดำเนินการประสานงานกับพรรคการเมืองที่ยังไม่มีมติชัดเจน ว่าจะเลือกไปร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองข้างใด โดยนายอนุทินจะเชิญพรรคเหล่านั้นมาหารือภายใน 2 – 3 วันนี้ เพื่อให้เกิดมติที่ชัดเจนทางการเมือง และความชัดเจนต่อประชาชน” นายศักดิ์สยาม กล่าว
เมื่อถามว่า จะมีการพุดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนาด้วยหรือไม่ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ทุกพรรคที่ยังไม่มีมติ ทางนายอนุทินจะรับอาสาในการประสานงาน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ว่าแต่ละพรรคมีแนวทางอย่างไร ซึ่งหากหลังการพูดคุยมีความชัดเจนก็จะมีการแถลงต่อไป

เมื่อถามว่า ได้มีการชั่งน้ำหนักความคิดเห็นของส.ส.หรือไม่ ว่าต้องการให้รัฐบาลปัจจุบันอยู่ต่อหรือต้องการความเปลี่ยนแปลง นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เปิดดูความคิดเห็น แต่หลังจากให้ส.ส.เขียนจดหมายมาโดยไม่ระบุชื่อ จะนำไปเป็นข้อมูลให้นายอนุทินรับไปพิจารณา เราได้เปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็น ซึ่งพบว่ามีความเห็นที่หลากหลาย ทั้งอยากให้รัฐบาลอยู่ต่อเนื่อง และอยากให้เราไปอยู่อีกข้างหนึ่ง รวมถึงอยากให้พรรคภูมิใจไทยสร้างความชัดเจน
เมื่อถามว่า มีเสียงวิจารณ์ว่าพรรคภูมิใจไทย ยังกั๊กท่าทีในการร่วมรัฐบาล นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เราจะทำให้เกิดความชัดเจนใน 2 – 3 วันนี้ โดยหัวหน้าพรรคฯจะเป็นผู้ดำเนินการพูดคุยกับพรรคที่ยังไม่มีมติ ซึ่งหากได้แนวทางที่ตรงกัน เราจะดำเนินการทางการเมืองต่อไป ทั้งนี้เราไม่ได้ต้องการให้เกิดความเปบี่ยนแปลง แต่ต้องการให้เกิดความชัดเจน เพราะประชาชนกำลังตั้งคำถามว่า สรุปแล้วแต่ละพรรคการเมืองมีแนวทางเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร ถ้าดูจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา พบว่าครั้งนี้มีความแตกต่าง เพราะในอดีตหลังจากมีการเลือกตั้งจะดำเนินการอย่างเป็นทางการ เจรจาเสร็จแล้วก็แถลงข่าว แต่วันนี้ไม่มีความชัดเจน มีแค่การแถลงผ่านสื่อฯแต่ไม่ได้มีการประสานงานอย่างเป็นทาการ เมื่อถามว่าหมายถึงพรรคการเมืองขนาดใหญ่ด้วยหรือไม่ นายศักดิ์สยาม กล่าวย้ำว่า ทุกพรรคที่ยังไม่มีมติ
เมื่อถามว่า หากพรรคการเมืองที่ยังไม่มีมติเห็นด้วยกับแนวทางไหน พรรคภูมิใจไทยจะไปทางนั้นใช่หรือไม่ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ทุกพรรคคือตัวแทนประชาชนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิก เราต้องฟังทั้งหมดเพื่อหาความชัดเจนให้ได้ภายใน 2 - 3 วันก่อนมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้ผูกมัดกับมติของพรรคที่ยังไม่มีมติ เพียงแค่ต้องการให้เกิดความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร เพราะวันนี้แต่ละพรรคยังไม่มีความชัดเจนว่าจะไปร่วมกับใคร เราจึงถือโอกาสนี้มอบหมายให้หัวหน้าเป็นผู้ประสานงาน เพราะการจะจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ได้ ขึ้นอยู่กับพรรคที่ยังไม่มีมติเหล่านี้

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าจะถูกมองว่าเป็นการต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า คิดว่าคงไม่มีเรื่องนี้ เพราะเราทำอย่างเป็นทางการ โปร่งใส ถ้าเราจะเจรจาต่อรองคงไม่ต้องทำแบบนี้ และการมอบหมายให้นายอนุทิน ประสานงานกับพรรคที่ยังไม่มีมติ ไม่ได้เป็นความพยายามเป็นขั้วที่ 3 ในการจัดตั้งรัฐบาล เราแค่ต้องการทราบแนวทางที่ชัดเจนเท่านั้น
เมื่อถามว่า การที่ยังไม่มีความชัดเจนแล้วประชาชนจับตามองทำให้รู้สึกดันหรือไม่ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ไม่กดดัน เพราะทุกอย่างที่เรารณรงค์หาเสียงต่อประชาชนเราได้ดำเนินการตามนั้น
เมื่อถามว่า การพูดคุยน่าจะเกิดความชัดเจนได้เมื่อไหร่ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ต้องรอ เพราะวันนี้หัวหน้าพรรคฯ คงเริ่มติดต่อประสานงาน คงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ แต่อาจเป็นโทรศัพท์สอบถาม เพราะเราเป็นเพียงผู้ประสานงานไม่ใช่แกนกลาง และรอดูว่าพรรคการเมืองอื่นจะมาหารือกันเมื่อไหร่และอย่างไร ยืนยันว่าทุกเรื่องจะทำอย่างเปิดเผย และเป็นทางการภายใน 2 วันหลังจากนี้
เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทยตัดสินใจหรือยังว่าจะเลือกใครเป็นประธานสภาฯ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ยังไม่มีการประสานงานอะไร แต่ที่มอบให้หัวหน้าพรรคฯ ดำเนินการก็มีเรื่องนี้ด้วย เมื่อถามว่า พรรคมีความสัมพันธ์พิเศษกับนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสที่จะสนับสนุนเป็นประธานสภาฯหรือไม่ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ทั้งหมดรอการหารือที่หัวหน้าพรรคฯจะไปประสานงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมพรรคได้ให้ส.ส.ของพรรคแสดงความเห็น ด้วยการเขียนจดหมายแสดงความเห็นว่าอยากให้พรรคมีแนวทางอย่างไรในการร่วมรัฐบาล โดยเขียนจดหมายใส่ซองไม่เปิดเผยชื่อ และหย่อนใส่กล่อง เพื่อรวบรวมให้หัวหน้าพรรคฯ ซึ่งพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับที่มาของส.ว. รวมถึงบางส่วนยืนยันว่า หากพรรคยกมือสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะไม่ยกมือให้ พร้อมแสดงความกังวลว่า หากไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เกรงว่ารัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพ เพราะมีเสียงปริ่มน้ำ.