ข่าวอย.คาดมีผู้ป่วยกว่า2พันคนต้องใช้น้ำมันกัญชา - kachon.com

อย.คาดมีผู้ป่วยกว่า2พันคนต้องใช้น้ำมันกัญชา
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์  รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า จากการคาดการณ์หลังปิดรับแจ้งครอบครองกัญชาในวันที่ 21 พ.ค.แล้วน่าจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 90  เป็นผู้ป่วย และอีกร้อยละ 10 เป็นผู้ไม่ควรครอบครอง และจากการจำแนะพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้รอไม่ได้ คือ โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่ใช้วิธีการรักษาอื่นแล้วไม่ได้ผล และภาวะคลื่นไส้ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด และผู้ป่วยมะเร็งระยะประคับประคอง ส่วนนี้ราวๆ 2 พันคน ก็จะนำรายชื่อผู้ป่วยมาจัดคู่แพทย์ที่ขึ้นทะเบียนสั่งใช้กัญชาและสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง ส่วนผลิตภัณฑ์ในระยะเร่งด่วนนี้ ก็จะมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศคาดว่าสิ้นเดือน พ.ค.นี้จะทราบว่าจะให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) หรือสภากาชาดไทยเป็นหน่วยงานนำเข้า ขณะเดียวกัน ทางอย.ได้รับการบริจาคน้ำมันกัญชาจากหน่วยงานนอกประเทศมา 500 ขวด

“ในวันสุดท้ายเท่าที่สังเกตพบว่าผู้ที่มาแจ้งครอบครองส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และเป็นเยาวชนจำนวนมาก เข้าใจว่าเป็นการครอบครองเพื่อสันทนาการมากกว่าทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนออกกฎหมายและผู้เกี่ยวข้องเป็นห่วง เพราะการใช้กัญชาสันทนาการในกลุ่มเยาวชนจะทำให้การเจริญเติบโตสมองไม่เต็มที่และความจำแย่ลง”นพ.สุรโชคกล่าว

วันเดียวกันนี้ ที่กรมการแพทย์ นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผอ.สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือร่วมกับ อภ. สถาบันประสาทวิทยา และ อย.ว่า การหารือครั้งนี้ก็เพื่อวางระบบการใช้น้ำมันกัญชารักษาโรค โดยเบื้องต้นจากน้ำมันกัญชาสกัดของทางอภ.ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มนั้น กลุ่ม 1 มีสายซีบีดีสูงจะมีการนำมาใช้เพื่อการรักษาโรคลมชักในเด็ก โดยจะมีสมาคมกุมารประสาทวิทยาประเทศไทยเป็นแม่ข่ายในการพิจารณาจ่ายน้ำมันกัญชาให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็น กลุ่ม 2 ที่มีสารซีบีดี และทีเอชซีในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 นั้น จะมีการนำมาใช้ในผู้ป่วยระยะประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น น่าจะมีสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และศูนย์โรคมะเร็งเป็นแม่ข่าย ส่วนกลุ่มที่ 3 ที่มีสารทีเอชซีสูง ยังต้องมีการหารือกันต่อว่าจะใช้อย่างไร เพราะเป็นกลุ่มที่มีผลข้างเคียงสูง

ด้าน พญ.อาภาศรี ลุสวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กุมารประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า การใช้น้ำมันกัญชาที่มีสารซีบีดีสูง หรือ ซีบีดีออยล์ 99 เปอร์เซ็นต์ ในผู้ป่วยโรคลมชักในเด็ก มีผลการศึกษาว่าใช้ได้ผลดีกับกลุ่มอาการชักรักษายาก คือ ชักเกร็งกระตุกทั้งตัวอย่างรุนแรง และชักแบบผงกหัวทำให้หัวแตกได้ ซึ่งจากการคำนวณแล้วผู้ป่วยโรคลมชักในเด็กทั้งประเทศมีความชุกประมาณ 25,000 ราย โดย 2 กลุ่มอาการนี้มีอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2,500 ราย แต่ซีบีออยล์หรือน้ำมันกัญชาที่มีซีบีดีสูงของ อภ.เป็นเพียงส่วนหนึ่งของจำนวน 2,500 ขวดเท่านั้น การเลือกให้ซีบีดีออยล์ กุมารประสาทวิทยาที่อยู่ในทุกโรงพยาบาลรัฐและโรงเรียนแพทย์ ภายใต้สมาคมกุมารประสาทวิทยาประเทศไทย 37 แห่ง จะมีการหารือตกลงกันถึงการเลือกเคส เบื้องต้นอยากให้แต่ละโรงพยาบาลดูแลประมาณไม่เกิน 10 เคส.

ผู้สื่อข่าวรายงาน ขณะนี้อย.ได้นำรายชื่อแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นผู้สั่งใช้กัญชาทางการแพทย์แสดงบนเว็บไซต์อย.แล้ว ซึ่งเป็นแพทย์ที่ทำงานทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน  จำนวน 304 ราย ผู้ป่วยสามาถตรวจสอบได้ที่ https://marijuana.fda.moph.go.th/
 

ขอบคุณภาพจาก https://marijuana.fda.moph.go.th/