ข่าว'ธนาธร'ปล่อยกู้'อนค.'110ล้าน อาจผิดถึงขั้นยุบพรรคได้ - kachon.com

'ธนาธร'ปล่อยกู้'อนค.'110ล้าน อาจผิดถึงขั้นยุบพรรคได้
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
ถูกเจ้าของฉายา "นักร้องการเมือง"อย่างนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ให้สอบสวนวินิจฉัย "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ 1 หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีให้พรรคยืมส่วนตัวจำนวน 110 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ว่า จะเข้าข่ายกระทำการขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 หรือไม่ โดยอ้างอิงนายธนาธร ขึ้นเวทีบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2562 ว่าให้พรรคอนาคตใหม่ยืมเงินจำนวน 110 ล้านบาท


ล่าสุดเมื่อวานนี้ ( 21 พ.ค.)นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า  ประเด็นดังกล่าวฝ่ายกฎหมายของพรรคการเมืองจะดำเนินการชี้แจงต่อไป ซึ่งตน ส.ส. และสมาชิกพรรคทุกคนต่างมั่นใจในการดำเนินการของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่นำโดยนายธนาธรนั้นเป็นไปอย่างรอบคอบ สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆได้ทั้งหมด เชื่อว่าสังคมต่างก็รับรู้ได้ว่า ประเด็นที่พรรคอนาคตใหม่ถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกเลือกปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไร ซึ่งตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองพรรคที่เรื่องร้องเรียนต่างๆยังไม่เคยคืบหน้า เช่น โต๊ะจีนระดมทุน หรือคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการถือหุ้นสื่อของผู้สมัครส.ส. ที่มีหลักฐานชัดเจนยิ่งกว่ากรณีของนายธนาธร แต่ตอนนี้มีเพียงนายธนาธรคนเดียวที่ถูกส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย


ขณะที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หมวด 5 ว่าด้วยรายได้ของพรรคการเมือง มาตรา 62 ระบุว่า พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
(1) เงินทุนประเดิมตามมาตรา 9 วรรค 2
(2) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ
(3) เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้า หรือบริการของพรรคการเมือง
(4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
(5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดจากการบริจาค
(6) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง การได้มาซึ่งรายได้ตาม (2) (3) (4) (5) ต้องมีใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการได้มาของรายได้นั้นเป็นหนังสือ ทั้งนี้ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด 6 ว่าด้วย รายได้ วิธีการบริหารการเงิน ทรัพย์สิน และการจัดทำบัญชีของพรรค
ข้อ 105 รายได้วิธีการบริหารเงิน ทรัพย์สิน และการจัดทำบัญชีของพรรคให้เป็นไปตามก.ม.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และระเบียบที่คณะกรรมการบริหารพรรคกำหนด

มาตรา 66 บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมูลค่าเกินสิบล้านบาท ต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่้บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียว หรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไป หลังจากบริจาคแล้ว  พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้


ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความถึงกรณี “การกู้ยืมเงิน” ของพรรคการเมือง กับ การถูกยุบพรรคการเมือง ว่า รายได้ของพรรคการเมือง” ที่ได้มาจากการ “การกู้ยืมเงิน”จากหัวหน้าพรรคการเมืองที่นำไปใช้จ่ายในการเลือกตั้ง จะเป็น”รายได้”ของพรรคการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และพรรคการเมืองสามารถกู้ยืมมาใช้ในการเลือกตั้งได้หรือไม่” จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณา ซึ่งรายได้ของพรรคการเมืองดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ซึ่งหากคิดได้เพียงว่า การได้เงินมาจากการกู้ยืมเงินโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือถือว่าเป็นชอบด้วยกฎหมายและคิดว่าสามารถทำได้นั้น เป็นการคิดผิด เนื่องจากพรรคการเมืองไม่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน และไม่อยู่ในแนวทางที่พรรคการเมืองจะหารายได้จากการกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้ เพราะการได้รายได้ของพรรคการเมือง พรป.พรรคการเมืองได้บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่า พรรคการเมืองจะมีรายได้โดยวิธีการอย่างใด ตาม พรป.พรรคการเมือง มาตรา 62 และแม้ว่าการกู้ยืมเงินจะกู้เงินดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่หากเป็นการได้เงินมาของพรรคการเมืองแล้ว จะต้องเป็นไปตาม พรป. พรรคการเมือง มาตรา 62 ดังกล่าว

ซึ่งต้องเข้าใจคำว่า “เงินบริจาค” ตาม พรป.พรรคการเมือง นั้น ก็คงมีความหมายว่า การสละ การให้ การแจก นักการเมืองเหล่านี้ ไปตีความเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ว่าการกู้ยืมเงินสามารถทำได้ เพื่อให้พรรคมีเงินมาใช้จ่ายจำนวนมาก แล้วตีความเองว่า “การกู้เงิน” ไม่ใช่การบริจาคเงิน จึงเป็นการเข้าใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเข้าใจว่า “การกู้ยืม”นั้น ก็เป็นการได้เงินมารูปแบบหนึ่ง เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าผู้ได้รับเงินไปที่เรียกว่า”ผู้กู้”นั้น จะต้องคืนเงินในเวลาที่ตกลงกันในภายหลังหรือในอนาคต (ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้รับคืนหรือเปล่า) การคืนเงินหรือไม่จึงไม่ใช่สาระสำคัญของรายได้ของพรรคการเมือง แต่การรับเงินดังกล่าว ถือเป็นรายได้ของพรรคการเมือง ที่จะต้องอยู่ในเกณฑ์ของ พรป.พรรคการเมือง มาตรา 62

ดังนั้น ปัญหาที่เป็นสาระสำคัญจึงอยู่ที่”การได้รับเงิน” หรือ "รายได้"ของพรรคการเมือง ว่า พรรคการเมืองนั้นได้รับเงินนับร้อยล้านบาท ที่ไม่เป็นไปตามที่ พรป.พรรคการเมือง มาตรา 62 บัญญัติไว้ จึงเป็นประเด็นสำคัญว่าเป็นความผิดหรือไม่ ซึ่งเมื่อพรรคการเมืองดังกล่าว ได้รับเงินมาเป็นรายได้ ไม่ว่าจะมาในรูปของการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใด หรือได้รับจากการจากกู้ยืมเงินซึ่งก็ถือว่าเป็นรายได้ เมื่อพรรคการเมืองนั้น โดยรู้หรือควรรูว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ไม่เป็นไป ตาม พรป.พรรคการเมือง มาตรา 62 และมิได้เป็นไปตาม หมวด 5 ในเรื่องของรายได้ของพรรคการเมือง จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พรป.พรรคการเมือง มาตรา 72 และมาตรา 74

คณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ตาม พรป. มาตรา 92(3) ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสุดลง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวนั้นได้ ตาม พรป.พรรคการเมือง มาตรา 90

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อนค.พร้อมแจงปม'ธนาธร'ปล่อยกู้พรรค110ล้าน ...
ผ่าก.ม.พรรคการเมือง 'ธนาธร'ให้'อนค.'กู้110ล.ผิดหรือไม่...
'เสรี'ชี้'กู้ยืม'ถือเป็นรายได้พรรค ขัดพ.ร.ป.พรรคการเมือง...