กรมชลจ่อสร้างประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง แก้น้ำท่วมย่านเขตศก.
การเมือง
.
กรมชลประทาน จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งประตูระบายน้ำแห่งนี้จะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเข้าสู่ตัวเมืองตรังได้มากกว่า 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) ในช่วงฤดูน้ำหลาก และทดน้ำเข้าคลองผันน้ำในอัตราที่เหมาะสม สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ อีกทั้ง ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้วางแผนขุดลอก/ปรับปรุงแม่น้ำตรังร่วมกับการขุดช่องลัดแม่น้ำตรัง เนื่องจากพบว่าแม่น้ำตรังบริเวณช่วงสุดท้ายจุดบรรจบกับคลองผันน้ำมีลักษณะคดเคี้ยว เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ดังนั้น เพื่อให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น จะต้องดำเนินการขุดขยายแม่น้ำตรังช่วงท้ายน้ำร่วมกับการขุดช่องลัดแม่น้ำตรัง ด้วยการขุด ช่องลัดที่ 1 (ขุดใหม่) บริเวณพื้นที่ตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมืองตรัง ระยะทางประมาณ 245 เมตร ช่องลัดที่ 2 (ขุดใหม่) บริเวณพื้นที่ตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง ระยะทางประมาณ 563 เมตร ช่องลัดที่ 3 (แนวคลองเดิม) บริเวณพื้นที่ตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง ระยะทางประมาณ 350 เมตร และช่องลัดที่ 4 (แนวคลองเดิม) บริเวณพื้นที่ตำบลควนธานี อำเภอกันตัง ระยะทางประมาณ 874 เมตร รวมระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร สามารถย่นระยะทางการระบายน้ำได้มากกว่า 6 กิโลเมตร ช่วยบรรเทาและลดปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองตรังได้เป็นอย่างมาก
ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ในช่วงนี้พื้นที่ภาคอีสานมีฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลดีทำให้มีน้ำบางส่วนไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ แต่ยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะส่งน้ำเพื่อการเกษตร
สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 575 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 24 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 488 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 8 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 79 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 มีปริมาณน้ำไหลเข้าประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่งในพื้นที่ 5 จังหวัด มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 440 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งพบว่าอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าร้อยละ 30 จำนวน 46 แห่ง แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการนำน้ำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน
จากปริมาณน้ำที่เหลือน้อยของเขื่อนอุบลรัตน์ ทำให้ต้องลดการระบายน้ำเหลือวันละประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมหารือถึงการนำน้ำก้นอ่างมาใช้ โดยในช่วงฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องต้นฤดูฝน คาดการว่าจะต้องใช้น้ำก้นอ่างมาใช้มากถึง 120 ล้าน ลบ.ม. แต่เนื่องจากการบริหารจัดการที่ดีอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าถึงสิ้นเดือนนี้ จะนำน้ำก้นอ่างมาใช้ไม่เกิน 15 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น และมั่นใจการนำน้ำก้นอ่างมาใช้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของตัวเขื่อนอุบลรัตน์
อย่างไรก็ตามแม้ว่าช่วงนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝน และมีฝนตกในหลายพื้นที่ แต่ข่วงปลายเดือนมิถุนายน ไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม อาจจะมีฝนทิ้งช่วง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เกษตรกรเตรียมแปลงเพาะปลูก จึงขอให้เกษตรกรติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันความเสียหาย ที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากน้ำที่เหลือในขณะนี้ จะเน้นเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการรักษาระบบนิเวศน์ เท่านั้น.