หมอย้ำน้ำมันกัญชาไม่ใช่ยาวิเศษ ใช้มากเสี่ยงเสพติด!
การเมือง

ด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ และหัวหน้าห้องฉุกเฉิน รพ.วิชัยยุทธ กล่าวว่า 1 เดือนที่ผ่านเข้าห้องฉุกเฉินในเวลากลางดึกเนื่องจากกินน้ำมันกัญชาเกินขนาดมา ตัวอย่างคนไข้ เป็นชายวัย 28 ปี ร่างกายแข็งแรงแต่มีปัญหานอนไม่หลับ ชอบดื่มไวน์ทุกวัน ได้เห็นข้อมูลประโยชน์ของกัญชารักษาได้ 39 โรคจากโซเชียลมีเดีย จึงไปหามาทดลองแต่ใช้โดยหยดใต้ลิ้นตัวเองเรื่อยๆ ตั้งแต่เวลา 21.00-03.00 น.รวมประมาณ 40 หยอด จนเริ่มมีประสาทหลอน ลิ้นแข็ง แขนขาเกร็ง คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ภรรยาต้องเรียกรถฉุกเฉินมาส่งรพ. เมื่อมาถึงรพ.ทำได้เพียงรักษาแบบประคับประคอง ด้วยการให้น้ำเกลือและให้นอนพักดูอาการ 2 วัน เนื่องจากไม่มียาต้านพิษกัญชาโดยตรง
นพ.มนูญ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทุกวันจะมีคนไข้หลายคนมาขอใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับและโรคอื่นๆ เพื่อไปขอรับกัญชา ถึงแม้จะไม่มีรายงานว่ากินน้ำมันกัญชาเกินขนาดจนเสียชีวิต แต่ทำให้ป่วยถึงขั้นเข้ารพ. หรือเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตจากอย่างอื่นได้ เช่น เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ทั้งนี้ ในอนาคตเชื่อว่าจะมีคนไทยที่กินน้ำมันกัญชาเกินขนาดมาเข้ารพ.แบบฉุกเฉินมากขึ้นเรื่อยๆ จากการสอบถามแพทย์ที่ทำงานห้องฉุกเฉินที่รู้จักกันพบช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แต่ละคนจะพบคนไข้ ที่มารักษาด้วยผลข้างเคียงจากการใช้น้ำมันกัญชา 3-4 คน ซึ่งคาดว่า รพ.อื่นๆ ทั่วประเทศก็คงเจอเหตุการณ์เช่นนี้เหมือนกัน
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าห่วงขณะนี้คือการที่ผู้ป่วยเข้าใจผิดคิดว่ากัญชาเป็นยาวิเศษรักษาได้ทุกโรคจนทิ้งการรักษาแผนปัจจุบันไปเลย ซึ่งจากประสบการณ์รักษาคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้น้ำมันกัญชาหลายคน พบว่าน้ำมันกัญชาสามารถช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน และปวดได้บ้าง แต่ไม่สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยมะเร็งขั้นสุดท้ายได้ จึงไม่ควรใช้น้ำมันกัญชากับคนที่ป่วยด้วยโรคที่ปัจจุบันมียารักษาได้ผลอยู่แล้ว เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี จะเป็นอันตรายกับผู้ป่วยหากหยุดยาต้านไวรัสเปลี่ยนมากินน้ำมันกัญชาแทน นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาอีกด้วย
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันสามารใช้กัญชาได้ใน 4 โรค คือ 1.โรคลมชักในเด็กบางชนิด ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้แล้ว 2.คลื่นไส้อาเจียนรับยาเคมีบำบัด ที่ใช้ยาแก้ไม่ได้แล้ว 3.ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ที่ดื้อยาแล้ว และ 4.ปวดประสาทที่ใช้ยาแก้ปวดอื่นไม่ได้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีอีก 4 โรคนี้ที่พบว่า ได้ประโยชน์ นอกเหนือจากนั้นน่าจะยังต้องศึกษาวิจัยทั้งนั้น ทั้งโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ซึ่งแพทย์สามารถสั่งจ่ายได้ แต่ต้องมีการติดตามและเก็บข้อมูลผลลัพธ์ ซึ่งอยากให้รูปแบบเป็นเช่นนี้ และไม่อยากให้คนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการใช้กัญชามาต่อว่ากัน อาจจะต้องหาเอกสารหลักฐานมากขึ้น เพราะทราบดีว่า กัญชามีประโยชน์และโทษ และกัญชาไม่ใช่ยาครอบจักรวาลรักษาทุกโรค โทษยังมีอยู่มาก และยังเป็นยาเสพติดอยู่ ใช้มากไปหรือไม่มีข้อบ่งชี้ อาจไม่เหมาะสม
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีการใช้น้ำมันกัญชาเกินขนาดจนเข้าห้องฉุกเฉินรพ. ตรงนี้ถือเป็นหยอดของภูเขาน้ำแข็ง จริงๆ ยังมีปัญหาอยู่อีกมาก จากการไปเยี่ยมสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)หรือ รพ.ธัญญารักษ์ พบว่ายังมีคนไข้จากการใช้กัญชาที่ต้องบำบัดรักษา ฟื้นฟู บำบัด ซึ่งใช้เวลา 3-4 เดือน อยู่ระหว่างให้สถาบันฯ วางระบบเฝ้าระวังอาการข้างเคียง หรืออาการถอนพิษ อาการขาดกัญชา ขณะเดียวกันก็ทยอยอบรมแพทย์ เภสัชกรเกี่ยวกับการใช้กัญชารักษาโรคด้วย และกำลังปฏิรูปการรักษามะเร็งของ รพ.มะเร็งในสังกัดกรมฯ ให้รักษามะเร็งแบบบูรณาการ ส่งแพทย์และเภสัชกรมาอบรมเช่นเดียวกัน
นพ.สรายุทธ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สบยช. กล่าวว่า การใช้น้ำมันกัญชาเองมีโอกาสเสพติดได้ เนื่องจากเมื่อเริ่มใช้เองในปริมาณน้อยๆ แล้วรู้สึกว่าอาการดีขึ้น นอนหลับดีขึ้น หายปวด แต่ใช้ไปแล้วจะเกิดภาวะดื้อยา ต้องใช้มากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเกิดอาการติดยา.