กรมชลฯดีเดย์ใช้"เส้นพลวัตร"กักเก็บน้ำเขื่อนทั่วประเทศ
การเมือง
สำหรับแผนป้องกันอุทกภัย เตรียมแก้มลิงธรรมชาติรับน้ำหลาก เช่น ทุ่งบางระกำโมเดล พื้นที่เกือบ4แสนไร่ รับน้ำได้ 550ล้านลบ.ม.ในพื้นที่ลุ่มต่ำ จ.พิษณุโลก -สุโขทัย ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมเขตเมืองสุโขทัยได้ และพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใช้แก้มลิง12ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา กว่า 1.15ล้านไร่ รับน้ำได้ 1.15 ล้านลบ.ม.โดยก่อนหน้านี้กรมชลฯบริหารจัดการส่งน้ำจากเขื่อนให้ชาวนาได้ปลูกข้าวเร็วขึ้น1เดือนเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากน้ำท่วม และใช้พื้นที่หลังเก็บเกี่ยวแล้วช่วงเดือนก.ย.ไว้ตัดยอดน้ำหลาก รวมน้ำประมาณ2พันล้านลบ.ม.ทั้งนี้การตัดยอดน้ำจะพิจารณาตามความจำเป็นไม่ให้กระทบชาวบ้าน ที่อยู่อาศัย เส้นทางคมนาคม และดูปริมาณน้ำไหลลงจากพื้นที่ตอนบนของประเทศ ลงสู่ภาคกลาง เป็นหลักในการตัดสินใจ
นายทองเปลว กล่าวว่าในช่วงฝนทิ้งช่วง กรมชลฯจะเสริมด้วยน้ำชลประทานจากเขื่อน ช่วยเหลือเกษตรกรหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูก และหากมีอุทกภัยเกิดขึ้นจะลดพื้นที่เกษตรสุ่มเสี่ยงเสียหายด้วย ซี่งปีนี้เป็นปีแรก ที่ประกาศใช้เส้นปฏิบัติการกักเก็บน้ำเขื่อนใหม่ จากเดิมใช้มาเมื่อปี2555 หลังน้ำท่วมใหญ่ปี2554 มุ่งป้องกันอุทกภัย จะพร่องน้ำเยอะให้มีที่ว่างในเขื่อนไว้รองรับน้ำฝน โดยต้องทบทวนหลังจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มาปรับใหม่ตามสภาพอากาศในแต่ละปี ใช้การพยากรณ์ หรือคาดการณ์ระยะสั้นขึ้น กำหนดเส้นพลวัตร ที่ดูตามสภาพน้ำฝนที่ไหลลงเขื่อนในแต่ละปี และปริมาณการใช้น้ำรายพื้นที่
“ปรับเส้นปฏิบัติการกักเก็บน้ำใหม่ จะดูทั้งสถิติย้อนหลังปริมาณฝนเฉลี่ย30ปี และ10ปี พร้อมกับสร้างโมเดลจำลองความน่าจะเป็นและความเสี่ยง ที่จะเกิดน้ำท่วมน้ำแล้ง สอดคล้องสภาพอากาศปัจจุบัน จะเห็นว่าบางพื้นที่เกิดทั้งท่วมแล้งในปีเดียวกันและประเทศไทยมีปรากฏการณ์ธรรมชาติแปรปรวนถี่ขึ้น รวมทั้งการใช้น้ำขยายตัวมากขึ้นทุกปี ดังนั้นทุกหน่วยงานด้านน้ำ ร่วมกันติดตามวิเคาระห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดความแม่นยำและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เกษตรกรมากที่สุด”นายทองเปลว กล่าว
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวด้วยว่าระดับนโยบายทั้งอดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ และ นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรฯให้ต่อยอดขยายผลแก้มลิง จึงไปสำรวจดูลุ่มน้ำปราจีนบุรี แม่น้ำบางประกง เพราะได้รับผลกระทบเป็นประจำเกิดน้ำท่วมอ.เมืองปราจีนบุรี จะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำดูดซับน้ำไว้ เช่นพื้นที่ทุ่งบางพรวง มีความเหมาะสมทำได้2แสนไร่ เอาน้ำเข้าไม่กระทบ ชุมชน ที่อยู่อาศัย เส้นทางคมนาคม ปีหน้าทดลอง 2หมื่นไร่ ตัดยอดน้ำหลากได้ 20ล้านลบ.ม.
“สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายแล้วปัจจุบันมีฝนตกหลายพื้นที่ มีน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ 9ล้านลบ.ม จากที่ต้องใช้น้ำก้นเขื่อน ตอนนี้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นแล้วและเขื่อนลำปาว ไหลเข้า 5ล้านลบ.ม. แม้ไม่กี่วันหลายคนวิตก น้ำเขื่อนจะไม่พอใช้ ตอนนี้เริ่มน้ำเข้ามา จากการวางแผนน้ำชัดเจนที่มีความชัดยืนยันสิ่งที่วางแผนสำรองน้ำไว้ใช้2-3เดือน ได้เป็นไปตามแผน รวมทั้งการปรับเส้นกักเก็บน้ำใหม่ ขณะมีคนเป็นห่วง ว่าน้ำมาจะล้นไหม ให้มั่นใจว่าได้ตรวจสอบความมั่นคงทุกเขื่อนแล้วจะไม่เกิดปัญหาการกัดเซาะท้ายเขื่อน”นายทองเปลว กล่าว.