ปาหี่การเมืองไทย'งูเห่า'รีเทิร์น เมื่อนิทานเป็นจริงในสภา!
การเมือง


แต่แม้มาต่อในยกที่ 2 ท่านบรรดา ส.ส.ก็ยังไม่ทิ้งลายเดิม วาดลวดลายแบบเก่ายกมือถี่-ตีรวน โหวตเลื่อนประธานและรองประธานสภา จนผ่านไปครึ่งวันยังไม่ได้มติ ต้องใช้การลงคะแนนแบบขานชื่อเรียงตามตัวอักษร ผลปรากฎว่าที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 246 เสียง ไม่เห็นด้วย 248 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง ทำให้ต้องเดินหน้าวาระการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร โดย นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ส่วน นายซูกาโน มัดทา ส.ส.ประชาชาติไทย เสนอ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ เพื่อไทย ทั้งสองจึงต้องชิงดำกัน

ผลสุดท้าย นายชวน ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนในสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนน 258 เสียง ขณะที่ นายสมพงษ์ ได้คะแนน 235 เสียง และงดออกเสียง 1 คะแนน จากจำนวนผู้เข้าประชุมทั้งหมด 494 คน วิเคราะห์ว่าการที่ประชุมกินเวลานานถึง 6 ชั่วโมง เป็นเพียงเกมการต่อรองกันของ 2 พรรคคือ พลังประชารัฐ กับ ประชาธิปัตย์ ที่แบ่งเค้ก "เก้าอี้รัฐมนตรี" กันยังไม่ลงตัว "งูเห่า" จึงโผล่ขึ้นมาอีกครั้ง...ทั้งหมดกี่ตัว? ลองนับได้จากผลการลงคะแนนที่ฝ่าย "พรรคเพื่อไทย" ได้คะแนน 235 เสียง จากจำนวน 7 พรรคพันธมิตร ที่มีเสียงรวมทั้งหมด 244 คะแนน เมื่อหักคะแนนของนายธนาธรและนายกนกที่ลาประชุมไปจะเหลือ 242 คะแนน จึงเท่ากับมีเสียง "งูเห่า" เทไปสนับสนุน นายชวน 7 คะแนน

มาถึงตรงนี้พอจะเดากันได้หรือยังว่านิยาม "งูเห่า" ในวงการ "การเมืองไทย" หมายถึงอะไร?!? ซึ่งหากให้พาไปย้อนตำนาน ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งตอนค่าเงินบาทลอยตัว-เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง พรรคฝ่ายรัฐบาลจึงร่วมกับพรรคฝ่ายค้านรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีฝ่ายตนเองสนับสนุน เวลานั้นพรรคร่วมรัฐบาลได้เบื้องต้น 197 เสียง พรรคประชาธิปัตย์และพรรคพันธมิตรสนับสนุน นายชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยรวบรวมคะแนนได้ 196 เสียง
ฝั่ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในตอนนั้นได้ไปชักชวน ส.ส.พรรคประชากรไทย กลุ่มนายวัฒนา อัศวเหม 13 คนให้ยกมือโหวตช่วย นายชวนเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่มติพรรคประชากรไทยสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ซึ่งการย้ายข้างของ 13 ส.ส.กลุ่มนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคสนับสนุนรวบรวมคะแนนได้ 209 เสียงดัน นายชวน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้สมใจ

ต่อมา นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ต้นสังกัดทั้ง 13 ส.ส. เปรียบเทียบตัวเองเหมือนชาวนาในนิทาน "ชาวนากับงูเห่า" ที่ลูกพรรคแอบยกมือโหวตช่วย นายชวน จึงเหมือนเป็นการเก็บงูที่กำลังหนาวตายไว้ในอ้อมอก แต่สุดท้ายพอได้รับความอบอุ่น กลับแว้งกัดคนที่ฟูมฟก

เมื่อมีครั้งแรกได้...ก็ย่อมมีครั้งที่ 2 ตามมา และแล้ว "งูเห่า" ได้บังเกิดอีกครั้งเมื่อปี 2551 หลังศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย จากกรณีถูกกล่าวหาทุจริตการเลือกตั้ง ส่งผลให้ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ส่วนหนึ่งย้ายไปอยู่สังกัดพรรคเพื่อไทย ขณะที่ ส.ส.อดีตพรรคพลังประชาชนกลุ่มเพื่อนเนวินได้ไปซบพรรคภูมิใจไทย
กระทั่งเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ มีวาระสำคัญเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่พ้นจากตำแหน่งเพราะพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้สนับสนุน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคและอดีตผู้นำฝ่ายค้านเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้เกิดการรวบรวมคะแนนเสียง พรรคประชาธิปัตย์ได้ติดต่อ 4 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นได้ไปทาบทาม นายเนวิน ชิดชอบ ที่แม้จะอยู่ระหว่างการถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่มีพาวเวอร์พวกพ้องเป็น ส.ส. 24 คน ให้ย้ายข้างมาสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ จนได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากนั้นแต่ละคนได้ตำแหน่ง "เก้าอี้รัฐมนตรี" เป็นรางวัลตอบแทนในรัฐบาลสมัยนั้น.