เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายวีแฟร์ (WeFair) ได้จัดเสวนาเส้นทางสู่รัฐสวัสดิการในยุครัฐบาลเลือกตั้ง โดยนายจอน อึ้งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน กล่าวตอนหนึ่งว่า คำว่ารัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แตกต่างจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาลซึ่งจะออกมาในเชิงการสงเคราะห์ ต้องมีการพิสูจน์ความจน ถือเป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคน บริการที่ได้ไม่มีคุณภาพ มาตรฐาน ไร้การควบคุม ที่สำคัญคือไม่ได้ช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวย คนจนเลย แต่หากเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าคือทุกคนได้ไม่ว่ารวยหรือจนจะได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่เกิดการแบ่งแยก และย้ำว่าไม่ได้เป็นการให้ฟรีๆ แต่ทุกคนจ่ายให้รัฐในรูปแบบต่างๆ คนที่พอมีมากจ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย ซึ่งตนมองว่าระบบนี้ดีกว่าแน่ แต่ปัจจุบันกลับเป็นระบบที่ค่อนข้างตกต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่เขามีระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม การจะผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จจะต้องมีเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้มแข็งมีนักวิชาการที่คอยให้ข้อมูลและชี้ช่องทาง ที่สำคัญจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะจะได้มีการแข่งขันในเชิงนโยบาย ซึ่งวันนี้ที่ยังผลักดันไมสำเร็จเพราะขาดการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ การขาดพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ก็เชื่อว่าหากค่อยๆ ร่วมกันผลักดันก็จะเห็นระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในอนาคตเกิดขึ้นทีละอย่างๆ แน่นอน
ด้านนายสมชาย กระจ่างแสง จากมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า ประชาชนไม่ได้เรียกร้องสวัสดิการเกินจำเป็นเลย เราขอแค่สวัสดิการที่จำเป็น คือการศึกษา ระบบสุขภาพ ที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ตนเห็นด้วยว่าการผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการจะสำเร็จได้องค์ประกอบหนึ่งคือพรรคการเมืองแกนนำ ตนมองว่าหากพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้วรัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้ามองจากผลงานของรัฐบาลปัจจุบัน 5 ปีที่ผ่นมาก็เห็นแล้วว่าไม่ได้สนใจเรื่องรัฐสวัสดิการเลย แต่ไปมุ่งแบ่งแยกคนรวย คนจน แจกเงินผ่านบัตรเล็กน้อยซึ่งไม่ได้ช่วยอะไร เมื่อเป็นแบบนี้ก็เลยต้องขอให้ประชาชนที่กำลังรอเรื่องรัฐสวัสดิการอยู่ให้อดทนให้มาก รอให้มีการเลือกตั้งใหม่ที่คิดว่าไม่นาน.