อาลัย'พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์'ประธานองคมนตรี2แผ่นดิน
การเมือง
เมื่อวันที่ 27 พ.ค. เปิดปรนะวัติและตำนานของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ 2 แผ่นดิน ในสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นชาว จ.สงขลา ตั้งแต่กำเนิด โดยเกิดเมื่อวันที่26 ส.ค. 2463 ที่ ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา ปัจจุบันอายุ 98 ปี และจะครบ 99 ปี ในเดือนส.ค. ทั้งนี้ชื่อจริงของ พล.อ.เปรม ได้ พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) พระราชาคณะชั้นธรรมฝ่ายธรรมยุติกนิกายเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ในสมัยนั้น เป็นผู้ตั้งให้ส่วนนามสกุล ติณสูลานนท์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานให้เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2462
พล.อ.เปรม เป็นบุตรชายคนรองสุดท้อง จากจำนวนพี่น้อง 8 คนของ รองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม หรือบึ้ง ติณสูลานนท์ ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม หรือออด ติณสูลานนท์ มีพี่น้องคือ นายชุบ ติณสูลานนท์ นายเลขติณสูลานนท์ นางขยัน ติณสูลานนท์ นายสมนึก ติณสูลานนท์ คหบดี นายสมบุญ ติณสูลานนท์ด.ญ.ปรี ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย) และนายวีรณรงค์ ติณสูลานนท์ ในวัยเยาว์พล.อ.เปรม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลาและโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2480 แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบกรุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า จากนั้นศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
ร่วมรบสงครามอินโดจีน-สงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2484ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีน ระหว่าง ไทย กับ ฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวดประจำกองรถรบ หลังจบสงครามได้รับการแต่งตั้งเป็นว่าที่ร้อยตรี ได้พักประมาณ6 เดือน ก็ได้รับคำสั่งให้กลับเข้าสู่สนามรบอีกครั้งในสมรภูมิเชียงตุง สงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2488ที่เชียงตุง เมียนมาร์ โดยได้รับตำแหน่ง ผู้บังคับหมวดกองหนุนในกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ หรือจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อยู่ในสมรภูมิรบนาน 5 ปี และได้รับพระราชทานยศ ร้อยโท ร้อยเอก ก่อนกลับเข้ารับราชการในหน่วยปกติหลังสงครามยุติเป็น หัวหน้ากองบังคับการกรมรถรบ
ภายหลังสงคราม พล.อ.เปรม รับราชการอยู่ที่จ.อุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ ฟอร์ตน็อกซ์รัฐเคนทักกี พร้อมกับ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ และ พล.อ.วิจิตร สุขมาก เมื่อ พ.ศ.2495แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมาเมื่อมีจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะศูนย์การทหารม้า ที่ จ.สระบุรี โดยได้รับพระบรมราชโองการ เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้ายศ พล.ต. เมื่อ พ.ศ. 2511
ตำนาน “ป๋าเปรม” แห่งกองทัพ
ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้านี้มักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ป๋า” และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าอย่างเอ็นดูและเป็นกันเองว่า“ลูก” จนเป็นที่มาของ “ป๋าเปรม” และคนสนิทมักถูกเรียกว่า “ลูกป๋า” และเรียกติดปากกันในกองทัพเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อ พล.อ.เปรม ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่2 ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) พ.ศ. 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2เมื่อพ.ศ. 2517 ได้เลื่อนยศเป็น พล.อ. ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อพ.ศ. 2520 และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี พ.ศ. 2521
บทบาทสำคัญ...สู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย
เส้นทางการเมืองของ พล.อ.เปรม เริ่มต้นขึ้นในพ.ศ. 2502 สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรมได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติและวุฒิสมาชิก ช่วงพ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2516 ในสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร
พล.อ.เปรม เข้าร่วมรัฐประหารในประเทศไทย2 ครั้ง ซึ่งนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ต.ค.2519 ยึดอำนาจจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ปราโมช และวันที่ 20 ต.ค. 2520 ยึดอำนาจจากรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร
พล.อ.เปรมรับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่ง รมช.มหาดไทยและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ควบคู่กับตำแหน่ง ผบ.ทบ. ในช่วงนั้น พล.อ.เปรม ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย
ก้าวสู่ นายกรัฐมนตรี คนที่ 16
หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2523 สภาผู้แทนราษฎร ทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือก พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี โดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2523 ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16ของไทย นอกจากยศ พล.อ. แล้ว พล.อ.เปรม ยังได้รับพระราชทานยศ พล.ร.อ. ของกองทัพเรือ และ พล.อ.อ. ของกองทัพอากาศด้วยจากการพระราชทานโปรดเกล้าฯ เมื่อเดือน ก.ค. 2529 ในระหว่างที่ พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่
โปรดเกล้าฯ เป็น “รัฐบุรุษ-ประธานองคมนตรี”
หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรมเป็น องคมนตรี ในวันที่ 23 ส.ค.2531 จากนั้นในวันที่ 29 ส.ค.2531 ได้รับโปรดเกล้าฯยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 ส.ค.2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯให้เป็นประธานองคมนตรี
สมญานามอมตะ “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา”
สำหรับชีวิตส่วนตัว พล.อ.เปรม ถือเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ไม่มีภริยา โดยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 สมัยระหว่างปี 2523-2531 ชื่นชอบการร้องเพลงและเล่นเปียโนรวมถึงการประพันธ์เพลงเป็นงานอดิเรก จนมีผลงานเพลงมากมาย อีกทั้ง ชื่นชอบดูการแข่งขันกีฬาโดยเฉพาะกีฬามวยและฟุตบอล มักเปิดโอกาสให้นักกีฬาเข้าพบเพื่อคารวะและให้กำลังใจก่อนจะเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศอยู่เสมอ บุคลิกส่วนตัวเป็นคนพูดน้อยในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกตั้งฉายาว่าเตมีย์ใบ้ และอีกฉายาหนึ่งว่า นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาจากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวาย และ กบฏ 9 กันยา
อย่างไรก็ตามช่วงเทศกาลสงกรานต์และช่วงวันเกิด พล.อ.เปรม มักจะเปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ ให้ นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ทหาร และผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าอวยพรและขอพรมาอย่างต่อเนื่อง จนถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทุกปี ซึ่งทุกครั้ง พล.อ.เปรมจะนำข้อคิดคำสอนมาเตือนใจ เรื่องการปฏิบัติหน้าที่เสมอ และสิ่งหนึ่งที่ พล.อ.เปรม ย้ำเสมอคือการเรื่อง“การตอบแทนคุณแผ่นดิน”
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ทั้งนี้ก่อนถึง อสัญกรรม พล.อ.เปรม ได้เป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ใน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้ พล.อ.เปรม ลงนามในสมุดจดทะเบียนราชาภิเษกสมรสในฐานะสักขีพยาน เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2562.