ปชป.สงวนท่าทียังไม่จับมือพปชร. ย้ำรอมติร่วม-ไม่ร่วมพรุ่งนี้
การเมือง
ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวขอให้แกนนำทั้ง 2 ฝ่ายจับมือกัน ซึ่งนายอุตตม หันมายิ้มทำจมูกย่นให้นายเฉลิมชัย แล้วทำท่าเหมือนจะจับมือด้วย แต่นายเฉลิมชัยได้สงวนท่าที ไม่จับมือ จากนั้นทั้งหมดได้พากันขึ้นไปหารือยังห้องประชุมชั้น 2 ของอาคารดังกล่าว
ขณะที่ นายอุตตมให้สัมภาษณ์ก่อนการหารือว่า ตนและคณะพรรคพลังประชารัฐมาเชิญพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นทางการ เพื่อให้เรามาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเดินหน้าประเทศไทยและเพื่อประโยชน์ของประชาชน วันนี้ เรามาดำเนินการตามธรรมเนียมประเพณีทางการเมืองที่ทำมาตลอด โดยยังไม่พูดคุยถึงตำแหน่งรัฐมนตรี จากนั้นแต่ละพรรคคงจะพูดคุยกันต่อๆไปว่านโยบายนั้นจะมาร่วมกันทำจะขับเคลื่อนกันอย่างไร ส่วนการแบ่งงานในแต่ละกระทรวงจะทำอย่างไรเป็นสิ่งที่พูดคุยกันได้ เมื่อถามว่าการพูดคุยกันครั้งนี้มีข้อตกลงหรือไม่ว่าต้องสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นายอุตตม กล่าวว่า ถ้าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เราก็คาดหวังว่าเราจะได้รับการสนับสนุนจากเขาในการโหวตซึ่งรวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าการร่วมรัฐบาลจะแยกออกจากการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯหรืออยู่ในเงื่อนไขว่าหากร่วมรัฐบาลต้องสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ นายอุตตม กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลคงเข้าใจกันดีว่าถ้ามาร่วมงานด้วยกันเราจะสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างไรในขั้นตอนที่เหลือ ต่อข้อถามว่าพรรคพลังประชารัฐก็มีปัญหาที่เสียงภายในยังไม่มีเอกภาพ นายอุตตม กล่าวว่า เราไม่ได้มีปัญหารุนแรงอะไร ซึ่งเป็นธรรมดา เพราะไม่ได้เลือกตั้งกันมา 5 ปี พวกเราก็ต้องใช้เวลาหารือกัน แต่วันนี้ขอเรียนว่าเราเป็นทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกัน เราต้องไปบริหารจัดการกับพรรคร่วมทั้งหลาย เรามั่นใจ เพราะต้องให้โอกาสและเชื่อใจกัน เรื่องเล็กๆน้อยๆก็มีบ้าง ถือเป็นธรรมดาของการเมือง ขอให้รอดูว่าถึงเวลาที่มีรัฐบาล วันนี้เรายังต้องรอการลงคะแนนในการตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกฯ ขอให้ขั้นตอนเสร็จสิ้นก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ติดใจที่พรรคประชาธิปัตย์เคยหาเสียงว่าไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ใช่หรือไม่ นายอุตตม กล่าวว่า เอาเป็นว่าเรื่องนี้ผ่านพ้นไปแล้ว วันนี้เราอย่าไปติดใจอะไรกัน อย่าไปสร้างเงื่อนไขใหม่ วันนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดีแล้วที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน ก็ขอให้เป็นอย่างนั้น ทั้งนี้การเลือกนายกรัฐมนตรีคงไม่ช้า น่าจะได้นายกฯภายในเดือน พ.ค.นี้ แต่ต้องรอการยืนยันก่อน
จากนั้น นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การมาเชิญครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะพรรคประชาธิปัตย์จะประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ในวันที่ 28 พ.ค.นี้ เวลา 17.00น .โดยประมาณ และต่อด้วยการนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมระหว่างสส.และกก.บห. เพื่อตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลกับเขาหรือไม่ ส่วนที่มีข่าวว่าจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆให้ปชป.นั้น ยืนยันว่าตอนนี้ไม่มีอะไร และต้องรอให้กระบวนการของพรรคตัดสินใจจะร่วมหรือไม่ร่วมเสร็จสิ้นเสียก่อน จึงค่อยไปพูดถึงเรื่องตำแหน่ง ตนเป็นแค่คนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ถ้ามติออกมาเป็นอย่างไร ต้องเป็นแบบนั้น วันนี้เขาแค่มาทาบทาม จึงขอให้มีการพูดคุยกันก่อน เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็ต้องแถลงอยู่แล้ว
เมื่อถามถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ประกาศจุดยืนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่จะไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ต้องพูดคุยกันโดยนำเหตุผลต่างๆประกอบกัน ซึ่งรวมถึงเหตุผลของนายอภิสิทธิ์ด้วย และต้องมองถึงการทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้เช่นกัน ส่วนกรณีการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล จะครอบคลุมถึงทิศทางการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ตนคิดว่าต้องนำมาพูดคุยในที่ประชุม เพราะเรามีความเป็นประชาธิปไตย ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกคน และไม่ว่าพรรคตัดสินใจอย่างไร เรามีเหตุผลทั้งสิ้น และยอมรับว่าจะมีผลต่ออนาคตทางการเมืองของพรรค เมื่อถามย้ำว่าหากร่วมรัฐบาลจริงจะอธิบายกับผู้ที่ลงคะแนน จำนวน 3.9 ล้านเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอย่างไร นายเฉลิมชัย ชี้แจงว่า ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ตนมั่นใจว่าเรามีเหตุผลให้กับทุกคน
ต่อข้อถามว่าจากการประชุมสภาฯ ในการเลือกประธานและรองประธานสภาฯ เสียงของสองขั้วการเมืองก่ำกึ่งกันมาก อาจทำให้รัฐบาลล่ม นายเฉลิมชัย กล่าวว่า เราต้องพูดคุยในทุกมิติ และต้องมองด้วยว่าเคยมีรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำยังสามารถอยู่ต่อไปได้ เพราะอยู่ที่การทำงานและการประสานงานมากกว่า เมื่อถามถึงโควต้ารัฐมนตรีของพรรคที่จะได้รับ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ขอย้ำว่าการจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลต้องมีเหตุผลที่นำไปตอบคำถามได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดในการหาเสียงเรามีนโยบายหลายอีกที่เป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าไม่ร่วมก็คือไม่ร่วม แต่ถ้าไปร่วมรัฐบาล นโยบายของพรรคต้องถูกนำไปปฏิบัติได้ด้วย