ข่าวปชป.นำคำประกาศ"มาร์ค" ตัดสินใจท่าทีพรรค - kachon.com

ปชป.นำคำประกาศ"มาร์ค" ตัดสินใจท่าทีพรรค
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่พรรคประชาธิปัตย์  นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพูดคุยระหว่างแกนนำพรรคพลังประชารัฐกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา  ว่า  ไม่ได้มีการพูดคุยว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ แต่พูดคุยถึงหลักการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ คือ 1.ยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข  2.ยึดนโยบาย“แก้จน สร้างคน สร้างชาติ”  ที่หาเสียงไว้กับประชาชน และต้องขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน  3.การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกพรรคต้องมาร่วมกันดูว่าสิ่งใดที่ทำให้สิทธิของประชาชนน้อยลง ทิศทางในการพัฒนาประเทศไม่มีความชัดเจน และต้องแก้ไขกระบวนการทางการเมืองหลายอย่างเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบ เราไม่ได้นำเรื่องนี้มาต่อรองในการร่วมรัฐบาล เพราะเรามีจุดยืนที่ชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เมื่อประกาศใช้แล้วก็จำเป็นต้องเดินไปข้างหน้า แม้ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวอีกว่า  พรรคพลังประชารัฐต้องนำหลักการเหล่านี้ไปคุยกันในพรรคแล้วจะนำผลที่ได้แจ้งกลับมาที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งจะนำกลับมารายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ในเย็นวันนี้ (28 พ.ค.) ก่อนจะมีการประชุมร่วมระหว่าง ส.ส.และคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อพิจารณาการประสานงานทางการเมือง โดยที่ประชุมพรรคจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกคนซึ่งรวมถึงกระแสความไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาล และกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยประกาศจุดยืนว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และอุดมการณ์ข้อ 4 ของพรรคที่ไม่สนับสนุนเผด็จการ มาเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาให้ตกผลึก ตนยืนยันว่าจะต้องเคารพเสียงของสมาชิกพรรคทุกคน และเป็นไปตามมติของที่ประชุม กระบวนการที่พรรคทำมีความชัดเจน ยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง  อย่างไรก็ตามยังไม่มีใครเสนอโมเดลให้ร่วมรัฐบาล แต่ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ร่วมรัฐบาล หรือโมเดลใดๆ

นายราเมศ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ว่ามีกระบวนการต่อรองกับพรรคพลังประชารัฐ ตั้งแต่เรื่องเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และต่อรองเพิ่มโดยการยกประเด็นของแก้รัฐธรรมนูญ ว่า  นายธนาธรควรไปศึกษารัฐธรรมนูญให้แตกฉานว่ากระบวนการเลือกประธานสภาฯ เป็นส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ และพรรคประชาธิปัตย์ทำงานอย่างเปิดเผย  นายธนาธรต้องเรียนรู้ว่าต้องแยกออกจากกันว่าการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล กับการเลือกประธานสภาฯที่เป็นไปตามมติของสภาฯซึ่งเห็นว่านายชวนเป็นผู้มีศักยภาพและซื่อสัตย์ เหมาะสมกับการทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างเป็นกลาง จึงถือว่านายธนาธรดูถูกการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายนิติบัญญัติมากเกินไป  ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายธนาธรจะชวนให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับพรรคอนาคตใหม่นั้น ที่จริง พรรคประชาธิปัตย์ควรเป็นฝ่ายชวนพรรคอื่นมาร่วมด้วย เพราะเรามีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด แตกต่างจากบางพรรคที่จะแก้ไขแบบฉาบฉวย ไม่สนใจประเพณีและวัฒนธรรม.