จ่อฟันเจ้าของเรือชดใช้เหตุระเบิดตู้สินค้าท่าเรือแหลมฉบัง
การเมือง

นายวิจารย์ กล่าวว่า ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่วนกระทรวงทรัพยากรฯ โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมตรวจสอบเกี่ยวกับมลพิษทั้งทางน้ำและอากาศ ในเบื้องต้นคุณภาพอากาศเป็นปกติ ไม่มีสารพิษตกค้าง เนื่องจากลมพัดพาออกไปหมดแล้ว ส่วนคุณภาพน้ำทะเลได้เก็บตัวอย่าง บริเวณท่าเรือ หรือตรงจุดเกิดเหตุ และระยะห่างเกิดเหตุ 6 จุด เพื่อนำไปวิเคราะห์พารามิเตอร์กลุ่มโลหะหนักคลอรีน และปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน รวมทั้งการตรวจสอบสารแคลเซียมไฮโพคลอไรต์ (calcium hypochlorite ) ที่เป็นสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ 13 ตู้ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุของเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ มีลักษณะเป็นของแข็งสีขาว เป็นเม็ดเล็กๆ มีกลิ่นของคลอรีน เป็นสารออกซิไดซ์เซอร์ ละลายน้ำแล้วจะมีสภาพเป็นด่างสูง เมื่อเกิดการเผาไหม้จะปลดปล่อยก๊าซคลอรีนหรือไอกรดไฮโดรคลอริก โดยจะทราบผลตรวจคุณภาพน้ำทะเลในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ส่วนสาเหตุของการระเบิดที่แท้จริงอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐาน
ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนของน้ำเสียจากการดับเพลิงที่อยู่ใต้ท้องเรือทั้งหมด ประมาณ 6,000 ลิตร สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมแหลมฉบังจะส่งไปบำบัดที่โรงงานรับบำบัดน้ำเสียของบริษัท สยามเอ็นไวรอนเมนทอล เทคโนโลยี จำกัด อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ซึ่งได้เริ่มทยอยขนน้ำเสียไปบำบัดแล้ว
นางสุวรรณา กล่าวว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นในวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้มีไอระเหยสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน พบว่าส่วนใหญ่มีอาการระคายเคืองผิวหนัง แสบคอ แสบตา และตระหนกหวาดกลัว โดยเบื้องต้นตั้งแต่เกิดเหตุได้รับรายงานว่ามีผู้รับผลกระทบต่อสุขภาพเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล 133 คน ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงรายเดียวที่ยังมีอาการอาเจียน เวียนหัว เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้สัมผัสกับสารเคมีโดยตรง ส่วนผู้ป่วยที่เหลือกลับบ้านแล้ว
รองอธิบดีคพ. กล่าวถึงการชดใช้ความเสียหายที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนหลังเกิดเหตุระเบิดว่า กรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ จะดำเนินการกับเจ้าของเรือ KMTC HONGKONG ของบริษัท ไทยแหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด โดยจะมีการประเมินมูลค่าความเสียหาย และตัวเลขการชดเชยผลกระทบอีกครั้ง เช่น ค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย ค่าตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ค่าดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น.