ข่าว16องค์กรยื่น4ข้อหนุนร่างพ.ร.บ.สารเคมีฉบับแรกของไทย - kachon.com

16องค์กรยื่น4ข้อหนุนร่างพ.ร.บ.สารเคมีฉบับแรกของไทย
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 31 พ.ค.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดย ผศ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข ประธานคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล คณะอนุกรรมการด้านอาหารฯ คอบช. และ น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายสารเคมี ผ่าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. โดยมี นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการ อย. เป็นผู้รับเรื่อง เพื่อสนับสนุนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.สารเคมี พ.ศ. ...

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.สารเคมี พ.ศ. ... ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่มาจัดการสารเคมีอย่างจริงจังและครบวงจร ถ้าดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไฟไหม้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เราก็ยังไม่สามารถดำเนินคดีกับใครได้ ตอนแรกยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นสารเคมีชนิดใด และเหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดมากขึ้น เพราะประเทศพัฒนาแล้วจะไม่ใช้สารเคมีอันตราย แต่ส่งมาขายที่ประเทศกำลังพัฒนา จึงต้องมีกฎหมายในการกำกับดูแล ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้สาระสำคัญมีทั้งการสื่อสารประเมินความเสี่ยง การเพิ่มขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ผลิต การส่งเสริมสนับสนุนสร้างแรงจูงใจ และการลดการใช้สารเคมี โดยอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งทางภาคอุตสาหกรรมก็กำลังจะขัดขวางอยู่ ดังนั้น องค์กรภาคประชาสังคม 16 องค์กรจึงต้องมาแสดงการสนับสนุนต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดการยุทธศาสตร์สารเคมี ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุข และ อย.เป็นฝ่ายเลขานุการ

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า สิ่งที่อยากเสนอเพื่อให้ พ.ร.บ.สารเคมี มีประสิทธิภาพ มี  4 หลักการ คือ 1.หลักการป้องกันและปลอดภัยไว้ก่อน ที่เป็นหลักทั่วโลก คือ เมื่อจะอนุญาตสารเคมี ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ถ้ามีความเสี่ยงก็ต้องหยุดความเสี่ยงนั้นไว้ ซึ่งรวมถึงสารเคมีที่จำหน่ายในประเทศไทยจะต้องมีการจำหน่ายในประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์ด้วย (Certificate of Free Sale) เพราะหลายประเทศที่เป็นเจ้าของสารเคมี เมื่อเลิกจำหน่ายสารเคมีแล้ว แต่เอามาขายในประเทศที่กำลังพัฒนา หลักการนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งระบายสารเคมีอันตรายที่ต่างประเทศเลิกผลิตหรือจำหน่ายแล้ว

2.หลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและต้องปลอดจากการมีส่วนได้เสีย โดยเสนอให้เพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการสารเคมีแห่งชาติ ให้มีภาคประชาชนที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นตัวหลักในการจัดการสารเคมในระดับพื้นที่ด้วย 3.หลักการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส ในการพิจารณาตัดสินใจต่างๆ ให้สาธารณะมีส่วนในการเฝ้าระวังการตัดสินใจ และ 4.การเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งอยู่ในร่างกฎหมายแต่อยากให้เกิดรูปธรรมจริง

น.ส.ปรกชล กล่าวว่า ทั้ง 4 หลักการมีความสำคัญมาก หากย้อนกลับไปดูอย่างการแบนสารเคมีพาราควอต ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นเจ้าของได้แบนพาราควอตไปกว่า 30 ปี ถ้าใช้หลักการนี้พาราควอตเข้าประเทศไทยไม่ได้ หรือกรณีหลายหน่วยงานที่สนับสนุนให้เกิดการแบน เช่น กระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชน องค์กรต่างๆ แต่แบนไม่ได้ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านที่มีความใกล้ชิดบริษัทสารเคมี ก็คาดหวังว่ากฎหมายนี้จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ส่วนการเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส ต่างประเทศกว่าจะขึ้นทะเบียนสารเคมีแต่ละตัว แค่ไปยื่นเพื่อขอขึ้นทะเบียน ภาคส่วนอื่นๆ รู้เรื่องหมดแล้ว มีการประกาศทางเว็บไซต์และส่งอีเมล หากใครจะค้านให้ค้านภายในกี่วันๆ แต่ประเทศไทยรู้เรื่องตอนขึ้นทะเบียนและวางขายแล้ว ถือว่าล้าหลังมาก จึงต้องปรับปรุงแก้ไขเร่งด่วน.