ข่าว"ชูศักดิ์"ชี้โหวตนายกฯไม่ใช่งานหมูของรัฐสภาชุดนี้ - kachon.com

"ชูศักดิ์"ชี้โหวตนายกฯไม่ใช่งานหมูของรัฐสภาชุดนี้
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะกรรมการทำงานฝ่ายหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 มิ.ย. ว่า การที่รัฐสภาปัจจุบัน อันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฏร 500 คน และวุฒิสมาชิก250 คน รวมเป็นสมาชิกรัฐสภา 750 คน จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่5มิ.ย.นี้ นับได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ผ่านมาเราเลือกนายกฯ กันในสภาผู้แทนราษฏร ครั้งนี้เป็นพิเศษแตกต่างจากอดีต เพื่อการสืบทอดอำนาจหรือไม่คงไม่ต้องเถียงอะไรกันให้เมื่อยปาก เพราะกติกาที่เห็นๆ กันอยู่ชี้ชัดอยู่แล้ว ฝ่ายหนึ่งตัองการเสียงส.ส.เพียง 126 คนก็ได้เป็นนายกฯแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งรวมเสียงส.ส.ได้มากกว่า 250 เสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนก็ยังเป็นนายกฯ ไม่ได้ การโหวตนายกฯ ครั้งนี้โดยภาพทางการเมืองที่เห็น ดูไปเหมือนจะเป็นงานสบายหมูๆ แต่ตนเองเห็นว่าเป็นงานหินเอามากๆ 

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เหตุผลสำคัญเพราะการเลือกนายกฯ มีความแตกต่างไปจากอดีต เดิมนายกฯ มาจากส.ส.ใครเป็นส.ส.ก็เป็นนายกฯได้ ใครไม่ใช่ส.ส.ไม่มีสิทธิเป็นนายกฯ ที่ผ่านมาจึงไม่ต้องพูดอภิปรายอะไรกันมาก ครั้งนี้ให้รัฐสภาต้องเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอตอนเลือกตั้งก่อน โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ถูกเสนอต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี แสดงว่าบุคคลที่รัฐสภาจะพิจารณามีมติให้เป็นนายกฯ นั้นต้องพิจารณาเสียก่อนว่ามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกฯ คงไม่ใช่ถึงเวลาก็จะโหวตกันเลยว่าจะเลือกใคร 

เรียกได้ว่ารัฐสภาจะต้องพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเสียก่อน เมื่อให้รัฐสภาพิจารณา รัฐสภาก็ต้องตรวจสอบเพื่อไม่ให้การเลือกมีความผิดพลาด ที่ผ่านมาปัญหาการดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ต้องห้ามมิให้เสนอให้เป็นนายกฯ เพราะเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่าเป็นประเด็นปัญหาที่ยังไม่ได้ฟันธงมีข้อยุติชัดเจนแต่อย่างใด ถ้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ แล้วจะเป็นอะไร มีอำนาจหน้าที่ทำอะไรมามากมาย การบอกว่าเป็นรัฐาธิปัตย์ดูจะเป็นคำตอบแบบอภินิหารทางกฎหมายเสียมากกว่า เรื่องนี้รัฐสภาจะต้องวินิจฉัย เมื่อมีอำนาจพิจารณาก็ต้องมีอำนาจชี้วินิจฉัย ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือกกต. เองก็ไม่ใช่องค์กรวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญที่จะเป็นข้อยุติสิ้นสุดผูกพันองค์กรอื่นๆได้ 

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาต่อมาคงต้องพิจารณากันโดยรอบคอบคือการที่ส.ว.ชุดปัจจุบันนี้ที่จะไปใช้สิทธิเลือกนายกฯ ในรัฐสภา ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กรรมการสรรหาไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ใช่ผู้เป็นกลางทางการเมือง เรื่องใหญ่มากๆ คือการที่ หัวหน้าคสช.มาเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ โดยพรรคการเมืองจึงเกิดปรากฏการณ์ไม่ยอมเปิดเผยกรรมการสรรหากระบวนการสรรหา ภายหลังเห็นมีผู้เป็นกรรมการสรรหาเองไปเป็นส.ว.เสียเอง การที่หัวหน้าคสช.ซึ่งเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ โดยพรรคพลังประชารัฐ และเป็นผู้คัดเลือกส.ว.จากกรรมการสรรหาเสนอมา เป็นผู้ลงนามรับสนองฯ และในที่สุดส.ว.ทั้งหลายจะเป็นผู้มาเลือกตนเองให้เป็นนายกฯ ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ ทำนองผลัดกันเกาหลัง ชงเองกินเอง จึงมีปัญหาว่าส.ว.ผู้โหวตได้กระทำการอันขัดกันแห่งผลประโยชน์ มีสิทธิถูกร้องว่ากระทำผิดทั้งรัฐธรรมนูญและมาตรฐานทางจริยธรรม มีผลร้ายอย่างไรก็ไปเปิดรัฐธรรมนูญดูกันเอง
 ทั้งหมดเป็นเพียงบางส่วน ยังมีอีกหลายประเด็น จึงฟันธงว่าไม่หมู งานยาก อย่าคิดว่าเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจไว้ดีแล้ว อะไรที่มันผิดธรรมชาติ ดึงดันจะเอาแบบนี้ ที่สุดคืออวสาน เป็นกำลังใจให้ประธานการประชุม หวังว่าคงจะไม่รวบรัดให้โหวตกันไปแบบไม่ต้องพิจารณาประเด็นเหล่านี้เลย เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่จบแค่ใครจะได้เป็นนายกฯ.