ข่าวหนุนขั้วที่3รวมเสียงตั้ง"รัฐบาลช่วยชาติ" - kachon.com

หนุนขั้วที่3รวมเสียงตั้ง"รัฐบาลช่วยชาติ"
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ออกแถลงการณ์ระบุว่า จากกรณีที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระสำคัญคือเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ คณะกรรมการญาติวีรชนฯ กังวลว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองไทยและจะเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ของสังคมไทยเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถูกออกแบบเพื่อให้มีการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารคสช.เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง ทั้งที่พรรคการเมืองที่เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับการเลือกตั้งอันดับหนึ่งแต่ยังดันทุรังชิงจัดตั้งรัฐบาล 

นายอดุลย์ ระบุว่า คณะกรรมการญาติวีรชนฯ ไม่อยากเห็นการเมืองเข้าสู่ทางตันสังคมไทยต้องเผชิญหน้าบาดเจ็บล้มตายกันอีกจึงมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังนี้1. คณะกรรมการญาติวีรชนฯเห็นว่า ความพยายามจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเลือกพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งด้วยอาศัยเสียงสมาชิกวุฒิสภา 250เสียงที่พล.อ.ประยุทธ์ คัดสรรมากับมือด้วยกระบวนการที่ไม่โปร่งใส่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมเป็นผลประโยชนทับซ้อนและไม่สง่างาม จึงขอเรียกร้องให้250ส.ว.พิจารณาตัดสินใจด้วยความอิสระคำนึงถึงทางออกของชาติบ้านเมืองมากกว่าผลประโยชน์ต่างตอบแทน แต่หากโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลนำประเทศไปสู่ความขัดแย้งจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

2.การจัดตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำไม่สามารถนำพาประเทศชาติออกจากวังวนความขัดแย้งได้ จะเป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทุกด้าน จึงขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่จะร่วมรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำพิจารณาทบทวนหาแนวทางใหม่ที่ยังมีช่องทางเป็นไปได้ เพราะหากเป็นรัฐบาลได้ไม่กี่เดือนแล้วสะดุดล้มลง นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติโดยรวมแล้ว พรรคการเมืองของท่านก็จะถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นพรรคการเมืองที่ร่วมสร้างปัญหาให้กับชาติบ้านเมืองด้วย

ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนฯ ระบุต่อว่า 3.ข้ออ้างที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2560สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้นั้น เป็นการตีความแบบศรีธนญชัย แม้บทเฉพาะกาลมาตรา272 ระบุให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือ 376 เสียง แต่ต้องยึดมาตรา 159 ที่ต้องใช้มติของสภาผู้แทนราษฎร และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นบทบัญญัติหลัก นั่นหมายความว่าจะต้องอาศัยเสียงส.ส.มากกว่า250 เสียงร่วมโหวตด้วย หากฝ่าฝืนเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความและเกิดความวุ่นวายตามมาอีก 4.หากที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเสียงส.ส.ไม่ถึง250 เสียง จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา จะกล้านำรายชื่อบุคคลที่มีคะแนนเสียงสนับสนุนไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของส.ส.ขึ้นทูลเกล้าฯหรือไม่ 

นายอดุลย์ ระบุต่ออีกว่า 5.ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่พยามจัดตั้งรัฐบาลขั้วที่3ทำหน้าที่ให้ถึงที่สุดโดยเดินไปให้สุดทางก่อน เพราะหากรวมพรรคการเมืองและจำนวนส.ส.ขั้วที่3และที่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจจะมีส.ส.กว่า320 เสียง โดยประกาศร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลขั้วที่3อย่างเป็นทางการที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง เท่ากับประกาศความชอบธรรมทางการเมืองที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ แล้วหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับของพรรคการเมืองและภาคส่วนต่างๆในสังคม เป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าทุกภาคส่วนจะออกมาสนับสนุนอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้250สว.ไม่กล้าฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนและจะลงคะแนนเสียงเพิ่มเติมให้จนถึง376เสียงในที่สุด

“คณะกรรมการญาติวีรชนฯยืนยันว่าด้วยสถานการณ์ที่ยังดำรงการแบ่งฝักฝ่ายของพรรคการเมือง และด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่วางกับดักไว้มากมายทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดตั้งรัฐบาลรวมทั้งความพยายามสืบทอดอำนาจมีแต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง จึงขอวิงวอนให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลช่วยชาติเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเร่งปฏิรูปประเทศในเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนให้แล้วเสร็จ ก่อนคืนอำนาจให้ประชาชนอีกครั้งเพื่อสังคมไทยจะได้กลับสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ในวันอังคารที่4 มิ.ย.9.00 - 12.00 น. ที่ห้องรานี โรงแรมรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการญาติวีรชนฯ ร่วมกับเครือข่ายประชาสังคม จัดเสวนาเพื่อร่วมกำหนดวาระการเมืองที่ประชาชนต้องการ โดยเชิญตัวแทนพรรคการเมืองและนักวิชาการมาร่วมกันเสนอทางออกผ่าทางตันการเมืองไทยด้วย” นายอดุลย์ระบุ.