ข่าวคพ.เร่งแปรรูปขยะแพรกษาปาน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า - kachon.com

คพ.เร่งแปรรูปขยะแพรกษาปาน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีเหตุการณ์เพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา ต. แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อเดือนมี.ค.2557 และก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนโดยรอบและมีเรื่องร้องเรียน ซึ่งมีการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปตามแผนงานตนจึงได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาพร้อมสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.สมุทรปราการ ท้องถิ่นจังหวัดสมุทรปราการ อบต. แพรกษา และเครือข่ายภาคประชาชน โดยได้ร่วมประชุมหารือและติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาผลกระทบเพื่อให้แก้ไขปัญหาผลกระทบจากบ่อขยะแพรกษาเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

นายประลอง กล่าวว่า ที่ประชุมมีประเด็นการหารือ โดยเฉพาะเรื่องเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูพื้นที่บ่อขยะแพรกษา ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เด่นชัยปากน้ำ ที่ได้เสนอไว้ ได้แก่ การบริหารจัดการขยะเก่าที่สะสมในบ่อขยะพื้นที่ 150 ไร่ โดยการรื้อร่อนและคัดแยกขยะมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ การจัดการน้ำเสียที่ขังอยู่ในบ่อขยะ การติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่บ่อขยะและพื้นที่ชุมชนโดยรอบ และการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ในพื้นที่ พร้อมทั้งเพิ่มความถี่ในการสื่อสารข้อมูลการดำเนินงานต่อภาครัฐและประชาชนอย่างต่อเนื่อง จากนั้นคณะก็ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโรงร่อนและคัดแยกขยะ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้รายงานว่าจะแล้วเสร็จ และติดตั้งเครื่องจักรเพื่อผลิตเชื้อเพลิงจากขยะประมาณปี 2563

นายประลอง กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น ได้เดินทางต่อไปยังบ่อขยะแพรกษาใหม่ เพื่อติดตามการบริหารจัดการขยะที่ "ศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชน โดยวิธีเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด"ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ ขนาด 9.9 เมกกะวัตต์ ซึ่งประกอบไปด้วย ระบบคัดแยกขยะ ระบบฝังกลบขยะแบบถูกหลักสุขาภิบาล การทำ RDFเตาเผาผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการแปรรูปขยะเป็นพลังงาน นอกจากนี้ ยังระบบบำบัดมลพิษทางอากาศและน้ำเสีย การผลิตสารชีวภาพด้วย ซึ่งบริษัทฯ มีแผนงานขยายกำลังผลิตไฟฟ้าในอนาคต โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ มีระบบการบริหารจัดการภายในโรงงานและระบบการจัดการขยะที่ดี มีการควบคุมมลพิษเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง เป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหา การจัดการขยะมูลฝอย ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลทำให้ชุมชนกับโรงไฟฟ้าสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยจะเห็นได้จากมีการขยายตัวของชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าดังกล่าว.