ข่าวทส.ลุยจัดการขยะพลาสติก100%ปี70 - kachon.com

ทส.ลุยจัดการขยะพลาสติก100%ปี70
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ปกท.ทส.) เป็นประธานแถลงข่าวผลงานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ในโอกาสที่จะครบรอบ 1 ปี
โดยนายวิจารณ์ กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นวิกฤติสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่นานาชาติให้ความสำคัญ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดหรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน และสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียงเฉลี่ยปีละ 0.5 ล้านตันเท่านั้น รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก กระทรวงทรัพยากรฯ ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ได้แต่งตั้งคณะทำงานสนับสนุนการบริหารจัดการขยะพลาสติก จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านการพัฒนากลไกการจัดการพลาสติก คณะทำงานด้านการส่งเสริมและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และ คณะทำงานด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์ขยะพลาสติก

นายวิจารย์ กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรฯ ได้จัดทำโรดแม็พการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เสนอ ครม.เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 ประกอบด้วย 2 เป้าหมาย เป้าหมายแรก คือ การลด และเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินการกับประเภทและชนิดของพลาสติกที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดการเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด ภายในปี 2562 ได้แก่ 1.พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม 2.ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ๊อกโซ่ และ3.ไมโครบีด และกำหนดเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด ภายในปี 2565 ได้แก่ 1.ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนา น้อยกว่า 36 ไมครอน .กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3.แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และ 4.หลอดพลาสติก และเป้าหมายที่ 2 มีการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ ร้อยละ 100 ภายในปี 2570

ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก โดยคณะทำงานทั้ง 3 คณะ ได้ดำเนินงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาแผนและดำเนินโครงการ กิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาและบริหารจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทยให้ได้ผลอย่างจริงจัง

ด้านนางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ประธานคณะทำงานด้านการพัฒนากลไกการจัดการพลาสติก เปิดเผยว่า คพ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ถึงแม้ว่าในเบื้องต้นจะเป็นการดำเนินการแบบสมัครใจในการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในอนาคต ผลการดำเนินงานในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น การเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ จำนวน 5 รายใหญ่ ได้ร่วมมือกันเลิกใช้แคปซีล ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นมา ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเลิกใช้แคปซีลถึงร้อยละ 80 ส่วนที่เหลืออีก ร้อยละ 20 ในกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยคาดว่าภายในสิ้นปี 2562 จะเลิกใช้แคปซีลได้ครบ 100% สำหรับพลาสติกไมโครบีด ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานพิจารณาออกประกาศห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของพลาสติกไมโครบีด ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนการควบคุมผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อไม่ให้มีส่วนผสมของสารอ็อกโซ่นั้นได้รับความร่วมมือจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นหน่วยกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ภายใต้มาตรฐาน มอก. ซึ่งจะได้มีการพิจารณาการประกาศห้ามนำเข้า ผลิต และจำหน่าย สารอ็อกโซ่ ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องตามลำดับต่อไป สำหรับการลด เลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก และ หลอดพลาสติก ภายในปี 2565 นั้น ในเบื้องต้น ได้มีการดำเนินงานโดยสมัครใจทั้งในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ มาตรการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้โครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม การลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องดื่มชา/กาแฟ หลายๆแห่ง โดยมีรูปแบบกลวิธีที่หลากหลาย อาทิ การงดแจกถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน การปฏิเสธการรับถุงหรือนำถุงผ้ามาช้อปปิ้งจะได้คะแนนสะสมพิเศษ การปฏิเสธการรับถุงเพื่อบริจาคเงินค่าถุงให้ให้โรงพยาบาลหรือองค์กรการกุศล การหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย

นายสุรชัย อจลบุญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า สส. ได้ส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก รณรงค์ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกผ่านช่องทางต่างๆ โดยใช้พลังของการสื่อสารเพื่อสร้างกระแสให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบของขยะพลาสติก และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี สามารถเข้าถึงประชาชนได้กว่า 5 ล้านคน โดยเริ่มที่ลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง หรือ single use plastic และกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นายภราดร จุลชาต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานคณะทำงานด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์ขยะพลาสติก กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาของการวางรากฐานต่างๆ ซึ่งเราได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนา Plastic Material Flow Data Base เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาและการวัดประสิทธิผลของการดำเนินกิจกรรมเพื่อจัดการขยะพลาสติกต่างๆ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งพื้นที่นำร่อง ซึ่งเป็นชุมชนตัวอย่างด้านการจัดการขยะพลาสติก 2 แห่ง ได้แก่ เขตคลองเตย กทม. และ จ.ระยอง โดยที่เขตคลองเตย ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการต่างๆ พัฒนาโมเดลการจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางและจะขยายผลให้ครบทั้ง 50 เขตต่อไป ในขณะที่พื้นที่ จ.ระยองได้รับความร่วมมือจาก อบจ.ระยอง และ 18 เทศบาล จัดทำโมเดลการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง และนำขยะมาใช้ประโยชน์ โดยตั้งเป้าหมายลดขยะพลาสติกที่จะไปสู่หลุมฝังกลบให้เหลือศูนย์ใน 5 ปี สำหรับการพัฒนาแนวทางการสร้างประโยชน์จากขยะพลาสติก ได้มีการศึกษาการนำขยะพลาสติกในทะเลมาแปรรูป ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบในการทำเสื้อ การนำขยะพลาสติกที่ไม่มีค่ามาช่วยเสริมความแข็งแรงของถนนยางมะตอย นำมาพัฒนาเป็นไม้เทียม รวมถึงยังได้ร่วมหารือกับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีการจัดการขยะทั้งในและต่างประเทศเพื่อหาวิธีการดึงพลาสติกออกจากระบบเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด.