ข่าวรมว.กษ.เร่งสร้างระบบกระจายน้ำทั่วประเทศ - kachon.com

รมว.กษ.เร่งสร้างระบบกระจายน้ำทั่วประเทศ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เร่งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน พัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนระบบกระจายทั่วประเทศเพื่อใช้อุปโภคบริโภค สนับสนุนการทำเกษตรกรรม รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และชุมชนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงสั่งการให้กรมชลประทานดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวซึ่งในปี 2561 มีความก้าวหน้าอย่างมาก ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 ตั้งแต่กรมชลประทานก่อตั้งในปี 2445 – 2556 ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2557 – ต้นปี 2561 และระยะทื่ 3 ตั้งแต่ต้นปี 2561 จนปัจจุบันพบว่า ระยะที่ 1 เป็นเวลา 111 ปี พัฒนาพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศได้รวม 30.825 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณความจุ 80,584.95 ล้านลูกบาศก์เมตร ระยะที่ 2 เป็นระยะเวลา 6 ปี พัฒนาพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศได้รวม 2.7034 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณความจุ 1826.69 ล้านลูกบาศก์เมตร ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะเพียงปีเดียวสามารถพัฒนาพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศได้รวม 33.5289 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณความจุ 82,411.64 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายกฤษฏากล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่ชลประทานและปริมาณความจุของแหล่งน้ำทั่วประเทศที่กรมชลประทานดำเนินการจะเห็นได้ว่า ในปี 2561 มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แบ่งเป็นอยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน 25 แห่ง ที่เหลือดูแลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางกว่า 412 แห่ง โดยทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำตามภารกิจและตามที่ได้รับมอบหมายเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำท่วม-น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ 2558 – 2569 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ 2561 – 2580) ซึ่งจะเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการสำคัญกว่า 300 โครงการตามแผนระยะยาว พ.ศ 2558 – 2569 ในการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จัดทำระบบกระจายน้ำสำหรับการใช้น้ำทุกภาคส่วนให้เพียงพอทั่วประเทศ

นอกจากที่จะทำหน้าที่ดำเนินการโครงการจัดหาแหล่งน้ำใหม่ได้แก่ โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ โครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุตรดิตถ์ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น กรมชลประทานพัฒนายังเร่งเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำให้เก็บน้ำได้มากขึ้นได้แก่ โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเดิมเก็บน้ำได้ 2.40 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 3.40 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งยังติดตั้งระบบท่อส่งน้ำทั้งฝั่งซ้ายและขวาของอ่างฯ เพื่อกระจายสู่พื้นที่เกษตรในโครงการอย่างทั่วถึง โครงการเพิ่มศักยภาพลุ่มน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรีที่สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และผลักดันน้ำเค็ม ได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เสริมความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับลุ่มน้ำคลองวังโตนดซึ่งเป็นแหล่งปลูกผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญทั้งทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ กล้วยไข่ นอกจากนี้สามารถผันน้ำส่วนเกินที่ส่งไปช่วยเสริมความมั่นคงให้กับพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้อีกถึงปีละประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามแผนการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดให้เต็มศักยภาพนั้นจะสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำต้นทุนรวมกันได้ 308.5 ล้านลูกบาศก์เมตรและมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 249,700 ไร่ เป็นต้น

นายกฤษฏา กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่ระบบชลประทานในไร่นา รวมทั้งแผนพัฒนาพื้นที่ทางการเกษตร ด้วยการรวบรวมที่ดินหลายแปลงมาวางผังใหม่พร้อมทำถนนและระบบชลประทาน ดำเนินการโดยสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเร่งพัฒนางานจัดรูปที่ดินตามพ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 ซึ่งจะสามารถกระจายน้ำไปสู่แหล่งเพาะปลูกได้อย่างทั่วถึง นอกจากนั้นยังทำแผนดำเนินการศึกษาแผนงานก่อสร้างใหม่ขอบเขตพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบชลประทานในไร่นาได้ ตาม พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินฯ ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ โดยดึงเกษตรกร เจ้าของที่ดิน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่การเกษตรทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานให้มีระบบแพร่กระจายน้ำในไร่นาอย่างทั่วถึง ทั้งในรูปแบบการจัดระบบน้ำและการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม.